โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

พัฒนาการเดือนที่ 7 เจ้าหนูอยากรู้....เริ่มสำรวจโลกใกล้ตัว

จากช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านไป ดูเหมือนลูกจะเพิ่งทำอะไรได้ไม่เท่าไรนัก พฤติกรรมของลูกก็กำลังจะเปลี่ยนไปอีก เขาจะเริ่มมีบทบาทและแสดงออกมากขึ้น ในตอนนี้ลูกจะนั่งเองได้นานขึ้น และกำลังฝึกที่จะทรงตัวลุกขึ้น ขึ้นมานั่งเองโดยใช้มือยัน และต่อมาจะนั่งได้ดีพร้อมกับการใช้มือทำสิ่งต่างๆ โดยไม่ต้องคอยเอามือยันตัวอีกต่อไป
เมื่ออายุครบ 7 เดือนเต็ม เด็กบางคนจะเริ่มคลานหรือคืบไปมาได้ดีขึ้น ช่วงนี้จะมีอุบัติเหตุตกเตียง ตกเก้าอี้ได้ถ้าคุณไม่ได้ระมัดระวังพอ เด็กแต่ละคนอาจมีท่าทางในการคลานหรือคืบต่างกันแล้วแต่ความถนัด และในบางรายอาจจะชอบให้คนอุ้มมากกว่า หรือเลือกที่จะไปเกาะยืน และเริ่มหัดเกาะเดินในช่วงที่โตกว่านี้

ลูกควรได้รับโอกาส สำรวจสิ่งต่างๆ และได้เรียนรู้ด้วยตนเองบ้าง เด็กอาจจะดูพะวักพะวงว่าเขาอยากจะออกนอกห้องไปดูสิ่งอื่นๆ ที่น่าตื่นเต้น หรือควรจะคอยดูคุณแม่ที่อยู่ในห้องดี ถ้ามีเสียงหรือการเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นมาล่อ เขาก็จะพยายามไปยังที่นั้นๆ แต่พอนึกขึ้นได้ก็จะรีบหันกลับมาหาคุณแม่อีก เพื่อที่จะให้แน่ใจว่า คุณยังอยู่ ไม่ได้หนีหายไปไหน (Separation anxiety) ตอนนี้ถ้าคุณจะเดินไปมาในบ้าน ในขณะที่เขาอยู่ใกล้ๆ ควรพยายามส่งเสียงให้เขารู้ว่าคุณยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน เพราะเขาจะคอยเช็กคุณอยู่บ่อยๆ จะได้สบายใจ
ลูกจะเริ่มใช้มือได้ดีขึ้น จะเริ่มเล่น จับปูดำ ขยำปูนา และ นอย น้อย นอย ได้ หรือเมื่อคุณทำท่าขอของจากเขา โดยการแบมือขอ เขาจะมองและทำท่าให้ของแก่คุณ แต่ไม่ยอมปล่อยของออกจากมือและดึงของกลับคืนไปจากคุณ คุณจะเริ่มรู้ว่าลูกถนัดมือซ้ายหรือขวา ในช่วงอายุต่อจากนี้พบว่า เด็กประมาณ 4 ใน 5 คน จะชอบใช้มือขวา (80% ถนัดขวา) เขาจะชอบใช้มือหยิบของ และส่งผ่านไปยังอีกมือหนึ่ง (Transfer) กลับไป กลับมา เขาจะสาละวนกับการเคาะของ ทุบ เขย่า ตี บีบ โยน กลิ้ง ฯลฯ ของที่อยู่ในมือ เพื่อสังเกตดูปฏิกิริยาของสิ่งต่างๆ

ลูกจะยังชอบเล่นเสียงต่างๆ ยกเว้นแต่ตอนที่กำลังหมกมุ่นทำอะไรเองจนเพลินไปก็จะเงียบไปชั่วครู่ คุณจะพอรู้ได้ว่าลูกกำลังทำเสียงแสดงความสุข ตื่นเต้น กลัว ไม่ชอบหรือโกรธอยู่ เขาจะชอบเลียนเสียงพูดของคุณ และจะเริ่มเข้าใจคำว่า ไม่ ที่คุณพูดกับเขา จากการฟังน้ำเสียงที่คุณพูดออกมา โดยการหยุดหรือทำท่าเบะจะร้องไห้ เมื่อได้ยินคุณพูดว่า ไม่
ลูกจะเริ่มเข้าใจการคงอยู่ของสิ่งของหรือคนได้ดีขึ้น แม้ว่าเขาจะมองไม่เห็นมันอยู่ต่อหน้า เขาจะเริ่มมองหาของที่เขาทำตกลงบนพื้นและกลิ้งหายไปจากสายตาของเขา และจะแสดงท่าดีใจหรือจำได้เมื่อเห็นแม้เพียงส่วนของของเล่นที่เขาชอบซ่อนอยู่ใต้ผ้า และมีเพียงบางส่วนของของชิ้นนั้นยื่นโผล่ออกมาให้เห็น

ลูกจะเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการทำสิ่งหนึ่ง แล้วเกิดอีกสิ่งหนึ่งขึ้นมา เช่น เขาจะสามารถเห็นของเล่นที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าได้ โดยการดึงผ้าออกเขาก็จะเห็นของเล่นนั้น และสามารถคลานเข้าไปหาของเล่นได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สนุกมากสำหรับเขา
ช่วงนี้คุณยังต้องระวังเรื่องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น แม้ลูกจะนั่งได้เองแล้วและชอบนั่งเล่นน้ำในอ่าง เวลาอาบน้ำให้ก็อย่าได้ปล่อยสายตาให้เด็กเล่นน้ำเอง เพราะแม้น้ำในอ่างจะไม่ลึกนัก แต่ก็อาจเกิดการจมน้ำ สำลักน้ำได้เสมอ เขายังช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลยเมื่อเกิดอันตรายขึ้น

เรื่องการนอนก็จะดีขึ้น สามารถหลับได้นานขึ้นในเวลากลางคืน และการกินอาหารก็จะดีขึ้น แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่พยายามเข้าใจลูกด้วยว่า เขาจะยังไม่รู้ว่าการกินอาหารให้เรียบร้อย ตามเวลาหรือกินจนหมดชามอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการนั้นเป็นอย่างไร ลูกยังจะกินเมื่อเขาหิวเท่านั้น และควรให้เวลาลูกกินอาหารอย่างมีความสุข (Enjoy eating) ดีกว่าการพยายามยัดเยียด เพราะถ้าลูก เกิดเกลียดหรือกลัว การกินอาหารขึ้นแล้ว เขาจะเริ่มอมข้าวหรือแหวะออกมาเพื่อต่อต้านการป้อน และบางครั้งถึงขั้นร้องไห้เมื่อเห็นคุณ หรือพี่เลี้ยงถือชามข้าวมาป้อนเขา ฉะนั้นไม่อยากให้คุณซีเรียสกับเรื่องการกินอาหารของลูกมากนัก

โดยทั่วไปแล้วเด็กที่แข็งแรง อารมณ์ดี เล่นได้สนุก จะสามารถกินอาหารได้มากเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องกินได้ดีทุกมื้อ ทุกวันไปตลอด และถ้ายิ่งเวลาไม่สบายก็อาจจะกินได้น้อยลงบ้างเป็นธรรมดา ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กบางคนเมื่อมีฟันขึ้นโผล่พ้นเหงือก (คู่ฟันหน้าซี่ล่าง) อาจจะงอแงหรือมีน้ำลายไหลมากขึ้น เด็กบางคนอาจมีการเจ็บป่วย เช่น ท้องเสีย หรือมีไข้ ร่วมด้วย