โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

เรื่องหวานชื่นของลูกกับจุกนมหลอก

การเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยสำหรับ คุณแม่มือใหม่ อาจจะเปรียบเหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เมื่อลูกร้องทีไร ก็ต้องตั้งสมมติฐานกันไว้ก่อนว่าลูกเป็นอะไร เมื่อคาดเดาได้รางๆ แล้วก็ต้องทำการทดลองดูสิว่าจะทำอย่างไรให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้ ให้นมแล้วยังไม่หยุด ให้นมแล้วก็ยังคงร้องให้ สุดท้ายคุณแม่ใช้ไม้ตายที่ไม่เคยคิดว่าจะใช้ นั่นคือ หยิบจุกนมหลอก มาใส่ปากให้เจ้าตัวน้อยดูดเท่านั้นล่ะเสียงร้องไห้ก็หายไป เจ้าตัวเล็กสงบลง และดูจะถูกใจกับเจ้าจุกนมหลอกเอามากๆ เมื่อการทดลองประสบผลสำเร็จ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจ้าตัวน้อยอยู่ที่ไหนเป็นต้องเห็นพี่จุกนมหลอกอยู่ เคียงข้าง โดยมีคุณแม่กังวลใจอยู่ไม่ห่างเช่นกัน



เรื่องทุกอย่างเหมือนเหรียญที่ย่อมมีสองด้าน จุกนมหลอกก็มีทั้งข้อเสียและข้อดีเช่นกัน ฉะนั้นก่อนที่คุณแม่จะปักใจเชื่อว่า ความรักของเจ้าตัวเล็กกับจุกนมหลอกเป็นรักต้องห้าม เรามาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียกันก่อนดีกว่า





Good Bad
ช่วยให้เจ้าตัวน้อยหายงอแงได้ หากลูกติดจุกนมยางในช่วงเดือนแรกๆ อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการเลี้ยงลูกด้วยนม
ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น เมื่อลูกหิว คุณแม่อาจให้ลูกดูดจุกนมยาง ขณะที่ไปเตรียมนมให้ลูก หรือ เบี่ยงเบนเมื่อลูกกำลังจะฉีดวัคซีน เจ้าตัวน้อยอาจตื่นมาร้องไห้กลางดึกบ่อยๆ หากดูดจุกนมยางจนหลับไป แล้วจุกนมยางหลุดออกจากปาก
ช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น หนูน้อยอาจนอนหลับเองไม่ได้ หากไม่มีจุกนมยาง
มีงานวิจัยที่พบว่า การดูดจุกนมยางขณะหลับช่วยลดความเสี่ยงของภาวะไหลตายในเด็ก (SIDS) ได้ เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อที่หูชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม สถิติการติดเชื้อที่หูในทารกนั้นมีไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับภาวะ SIDS
การติดจุกนมยางเลิกง่ายกว่าปล่อยให้ลูกติดดูดนิ้ว การติดจุกนมยางนานเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาทางทันตกรรมได้







จุกนมหลอก...เมื่อไรดี การให้ลูกได้ลองใช้จุกนมหลอกเร็วเกินไป หรือก่อนที่ลูกจะดูดนมแม่ได้คล่อง ย่อมทำให้เจ้าตัวเล็กเกิดภาวะสับสนหัวนม ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้นหากคุณคิดจะให้ลูกดูดจุกนมหลอกก็ควรจะรอให้ลูกดูดนมแม่ได้ดี และดูดนมแม่จนเป็นกิจวัตรได้เสียก่อน ซึ่งเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มให้ลูกดูดจุกนมหลอกก็คือ เมื่อหนูน้อยอายุ 1 เดือนขึ้นไป



จุกนมหลอกจำเป็นหรือไม่สำหรับทารก หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าทารกจำเป็นจะต้องได้รับการปลอบประโลมและทำให้ รู้สึกอุ่นใจผ่อนคลาย จุกนมหลอกก็เป็นผู้ช่วยที่ดีทางหนึ่ง แต่เราขอแนะนำว่าให้เป็นทางเลือกท้ายๆ เมื่อคุณแม่ทำทุกวิธีแล้วลูกก็ยังคงงอแงอยู่จะดีกว่า



ติดจุกนมหลอกแล้ว เลิกยากหรือเปล่า เด็กๆ จะเลิกติดจุกนมหลอกได้เอง เมื่ออายุ 6-9 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่หนูน้อยเริ่มคลานและหันไปสนใจสิ่งอื่นๆ แทน หากเห็นว่าลูกเริ่มไปสนใจสิ่งอื่นแล้ว ก็ควรหยุดที่จะหยิบยื่นจุกนมหลอกให้ลูกอีก อย่างไรก็ตามหนูน้อยยังอาจต้องการเจ้าจุกนมหลอกเป็นเพื่อนในเวลานอน แต่ทั้งนี้เด็กๆ จะเลิกดูดจุกนมหลอกโดยสิ้นเชิง เมื่ออายุ 2 ปีค่ะ



Pacifier Safety - หากคุณตกลงใจให้ลูกใช้จุกนมหลอกก็ควรดูแลเรื่องความสะอาดและปลอดภัยเป็นพิเศษด้วย



ควรล้างจุกนมอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือเมื่อใดก็ตามที่ตกลงพื้นหรือสกปรก โดยล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่



ไม่ควรผูกเชือกหรือริบบิ้นยาวๆ ติดกับจุกนมหลอก แล้วแขวนคอ หรือผูกข้อมือลูกไว้ เพราะเชือกอาจรัดคอลูกได้



จุกนมหลอกที่ขาดหรือชำรุด ควรทิ้งทันที และควรเปลี่ยนจุกนมหลอกให้ลูกใหม่ทุกๆ 2 เดือน



หากลูกเริ่มเคี้ยวจุกนมหลอก คุณควรเปลี่ยนให้ลูกใช้ของเล่นยางที่ทำขึ้นมาสำหรับให้ทารกกัดแทน



เลือกซื้อจุกหลอกที่ทำจากวัสดุชิ้นเดียว และมีฝาปิดซึ่งมีรูเพื่อระบายอากาศด้วย