โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

การเลี้ยงดูลูกในแนวทางของคนญี่ปุ่น

ความใฝ่ฝันสูงสุดของคนเป็นพ่อแม่ คงหนีไม่พ้นการอยากจะให้ลูกเป็นคนเก่งและเป็นคนดี ซึ่งต้องเริ่มมาจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งจะสะท้อนออกมาให้เห็นจากตัวของลูกนั่นเอง ฉะนั้นการเริ่มต้นที่ดีของลูกจึงต้องมาจากพื้นฐานที่ดีที่พร้อมของพ่อแม่ด้วย

ศาสตรจารย์ ดร.ชิจิดะ มาโกโตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองชาวญี่ปุ่น นักวิจัยที่ค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของสมองอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ดร.ชิจิดะ ได้ค้นพบว่าหากฝึกให้สมองทั้งสองซีกทำงานได้พร้อมๆ กัน จะทำให้มนุษย์คนนั้นสามารถดึงความเป็นอัจฉริยภาพของตนเองออกมาใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด และจะดียิ่งขึ้นถ้าสามารถฝึกสมองทั้งสองซีกได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 0-6 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีพัฒนาการรวดเร็วถึงขีดสุด
การเรียนรู้ของเด็กควรจะต้องเริ่มจาก 3 สิ่งที่สำคัญนั่นคือ ความรัก ความเข้มงวด และก็ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ แล้วสามสิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อการเลี้ยงดูลูกอย่างไร ลองติดตามดูกัน

ความรัก

ส่วนมากนั้นพ่อกับแม่ต่างก็คิดว่าตัวเองรักลูกมาก แต่เด็กจะรู้หรือเปล่าว่าพ่อแม่รัก พ่อแม่เคยพูดหรือแสดงออกบ้างหรือไม่ ถ้าคิดว่าการเลี้ยงดูเด็กเกิดปัญหา ขอให้คิดว่า เพราะพ่อแม่ไม่ได้แสดงออกมาว่ารัก นั่นเอง ถ้าพ่อแม่แสดงออกอย่างชัดเจนว่ารัก เด็กทุกคนก็จะเปิดใจให้ และการเลี้ยงดูเด็กก็จะไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น

ความเข้มงวด

คุณให้แต่คำชมกับเด็กอย่างเดียวหรือเปล่า พ่อแม่ที่คิดว่าการเรียนการสอนนั้นต้องมีแต่คำชมอย่างเดียว ไม่มีความเข้มงวด หรือกวดขันอะไร ไม่ว่าเด็กทำอะไรหรือกำลังติดขัดอะไร พ่อแม่ก็เอาแต่หัวเราะอย่างเดียว การกระทำอย่างนั้นดีแล้วหรือ
การชมก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้าจะชมอย่างเดียวจิตใจของเด็กจะไม่สามารถเติบโตได้ดี ถ้าเด็กทำผิด แต่พ่อแม่ไม่มีแก้ไขหรือตักเตือน จิตใจของเด็กก็จะเติบโตขึ้นไปในทิศทางที่ผิดพลาดยิ่งขึ้น พ่อแม่จะต้องกำหนดว่าเด็กทำอะไรแล้วเราจะโกรธ ตัวอย่างเช่น การทำให้คนอื่นเดือดร้อน การกระทำที่เป็นอันตราย และพ่อแม่ก็ต้องแสดงความโกรธอออกไปเพื่อให้ลูกรู้ว่าทำผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกฎที่พ่อแม่จะต้องกำหนดขึ้นมา และต้องทำให้ได้สม่ำเสมอ อย่าทำตามอารมณ์ เช่น วันนี้อารมณ์ดีไม่โกรธ แต่พรุ่งนี้อารมณ์เสียเลยโกรธทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเด็กจะสับสนและไม่เข้าใจได้
หลังจากโกรธแล้วห้ามทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเด็กพูดคำว่าขอโทษแล้ว สำนักผิดแล้ว เราจะต้องพูดชมเด็กที่รู้จักขอโทษ และรู้จักสำนึกผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการดูแลไม่ให้จิตใจของเด็กมีรอยแผลที่เกิดจากความโกรธของพ่อแม่

ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ

พ่อแม่นั้นต่างก็อยากจะเลี้ยงดูเด็กให้ดีกันทุกคน โดยมากจะคิดไปถึงแต่ความสามารถ และความเก่งของเด็กอย่างเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีเท่าไร เช่น บทสนทนาส่วนมากจะพูดว่า ทำอะไรได้บ้างแล้ว ทำไมถึงทำไม่ได้ ซึ่งเรามักจะใช้สิ่งเหล่านี้ในการวัดความสามารถของเด็ก แต่การเลี้ยงดูเด็กนั้นควรจะยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่ประกอบเป็นตัวเด็กขึ้นมา สิ่งสำคัญที่สุดก็คือควรจะสื่อให้เด็กรู้ว่า แค่น้องเพลง(ชื่อลูกคุณ) อยู่ที่นี่ พ่อกับแม่ก็มีความสุขมากแล้ว ไม่ใช่เอาแต่คาดหวังว่าเด็กจะทำอะไรได้หรือไม่ได้เท่านั้น และเวลาพูดคุยกับเด็กให้คิดเสมอว่าเขาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ก็จะทำให้เด็กเปิดใจยอมรับการเลี้ยงดูของเราได้เป็นอย่างเต็มที่ พฤติกรรมของเด็กก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เพราะพ่อแม่มีการยอมรับและไว้วางใจในตัวพวกเขานั่นเอง