โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

รักลูกให้ตี ดีจริงหรือ

การเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กอาจจะเรียกได้ว่าเป็นงานแห่งความรัก ที่ผู้เป็นพ่อแม่ต้องทุ่มเท ทั้งแรงกายแรงใจ ฟูมฟักให้ลูกรักได้รับสิ่งที่ดีที่สุด จนบางครั้งหากลูกทำสิ่งที่ผิดพลาด หรือไม่เชื่อฟัง คุณก็อาจผิดหวัง ขาดสติ จนพลั้งมือตีเจ้าตัวเล็กด้วยความโกรธ และหลังจากนั้นก็กลับมานั่งเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองทำลงไป และอดถามตัวเองไม่ได้ว่า เราทำถูกหรือเปล่านะ ที่ตีลูกแบบนั้น



 ก่อนจะตีต้องมีสติ

เป็นที่ถกเถียงกันมานาน และยังหาบทสรุปไม่ได้ว่าการตีลูกนั้นสมควรหรือไม่ บ้างก็ว่าไม่จำเป็น พูดดี ๆ เจ้าตัวเล็กก็น่าจะเข้าใจแล้ว แต่ถ้าพูดดีๆ แล้วลูกไม่ฟังล่ะ พ่อแม่ก็อาจมีอารมณ์โมโหขึ้นมาได้เหมือนกัน ซึ่งในกรณีนี้ สุภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี น่าจะใช้ได้ผลดียิ่งขึ้น หากเพิ่มเติมอีกสักนิดว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี อย่างมีสติ เพราะหากคุณจะตีลูกสักครั้ง คุณก็ควรจะยั้งคิดก่อนว่า การตีนี้เพื่ออะไร การตีลูก ไม่ควรเป็นการระบายอารมณ์โกรธของคุณไปสู่ลูก เพราะนั่นจะเท่ากับว่าคุณกำลังทำร้ายร่างกายเจ้าตัวเล็ก หากคุณมีสติและใคร่ครวญแล้วว่าการตีเบาๆ ที่มือหรือที่แขนของลูกจะช่วยทำให้เจ้าตัวเล็กที่กำลังอาละวาดหยุดและยอมฟังเหตุผลที่คุณจะพูด การตีแบบนี้ก็อาจจะเป็นการสมเหตุสมผลมากกว่า

อย่างไรก็ตาม หากคุณยึดมั่นว่าการตีเท่านั้นที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมไม่น่ารักของลูกได้ คุณก็ควรทบทวนความคิดอีกครั้ง เพราะโดยทั่วไปแล้ว การทำโทษลูกด้วยวิธีการตี หรือใช้กำลังนั้น จะทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่ดีได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น รวมทั้งยังเป็นการปลูกฝังความคิดว่า คนที่ตัวใหญ่กว่า สามารถใช้กำลังในการควบคุมคนที่อ่อนแอกว่าได้ ให้กับลูกด้วย ซึ่งไม่ใช่ทัศนคติที่ถูกต้องนัก



 กฎทองของการลงโทษ

การลงโทษที่ได้ผลดีที่สุดคือการลงโทษที่ไม่พร่ำเพรื่อ หากคุณลงโทษลูกแล้ว แต่พฤติกรรมไม่ดีของลูกยังคงอยู่ นั่นก็แสดงว่าการลงโทษของคุณไม่ได้ผล และคุณควรหาวิธีอื่นๆ ต่อไป เด็กๆ เรียนรู้จากความผิดพลาดเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ฉะนั้นคุณไม่จำเป็นต้องทำโทษลูกทุกครั้งที่เขาทำผิด เก็บการลงโทษไว้สำหรับความผิดพลาดที่หนักหนา ซึ่งคุณพร่ำสอน พร่ำบอกแต่ลูกไม่ทำตามดีกว่า คุณควรเข้าใจว่า อารมณ์กราดเกรี้ยวกับการลงโทษนั้น เป็นคนละเรื่องและไม่ควรนำมาปนกัน

หากคุณโกรธลูกมากๆ คุณอาจเดินออกจากบริเวณนั้นไปสักพัก เพื่อระงับสติอารมณ์ แต่ทั้งนี้ ไม่ควรนิ่งเฉยกับลูกโดยสิ้นเชิง เพราะลูกอาจเข้าใจว่าความรักและความสนใจของคุณที่มีต่อเขานั้นเป็นสิ่งที่มีเงื่อนไข คือจะเกิดขึ้นเมื่อลูกทำตัวดีๆ เท่านั้น รวมทั้งเจ้าตัวน้อยบางคนก็อาจจะรู้สึกดีที่คุณไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว โดยไม่ได้เข้าใจให้ถูกต้องว่าตนเองทำผิดอย่างไร ดังนั้นวิธีที่ดีคือ คุณควรบอกให้ลูกรู้ว่า คุณจะไปสงบสติอารมณ์ เพราะพฤติกรรมของลูกทำให้คุณรู้สึกแย่ และคุณจะกลับมาเพื่อหาทางแก้ไขพฤติกรรมนี้ร่วมกับเขาในที่สุด



 ไม่ต้องตีก็ดีเหมือนกันนะ

แม้ว่าในบางครั้งคุณจำเป็นต้องตีเจ้าตัวเล็กบ้าง เพื่อให้ลูกหยุดโยเยและยอมฟัง แต่ทั้งนี้ การตีลูก อาจไม่ใช่วิธีการลงโทษที่ดีที่สุด คุณอาจทำโทษเจ้าตัวเล็กได้หลายทางนอกไปจากการตี ตวาด หรือขู่ให้ลูกกลัว ซึ่งหนึ่งในวิธีที่ได้ผลดีก็คือ การขอเวลานอกหรือ Time-Out นั่นเอง





How to Time-Out
ตั้งเกณฑ์ให้แน่นอน 

ตัดสินใจว่าเมื่อไรที่คุณจะใช้กฎ Time-Out กับลูก เช่น เมื่อลูกเริ่มอาละวาดทำร้ายคนอื่น หรือเมื่อลูกตวาด พูดคำหยาบ เป็นต้น และควรหาบริเวณที่เหมาะสมต่อการทำโทษนี้ ซึ่งควรเป็นที่ที่ปราศจากของเล่น โทรทัศน์ และเด็กๆ วัยเดียวกัน สำหรับหนูน้อยวัยเรียน การให้นั่งที่บันไดขั้นล่างสุด หรือมุมห้องเงียบๆ ดูจะเหมาะสมที่สุด

เตือนล่วงหน้า 

คุณควรเตือนลูกก่อนเสมอ เมื่อเห็นว่าลูกเริ่มมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อให้โอกาสลูกหยุดพฤติกรรมนั้นๆ ด้วยการอธิบายสั้นๆ ว่าเขาทำผิดอย่างไร และทำไมสิ่งที่ลูกทำจึงเป็นสิ่งที่คุณยอมรับไม่ได้ และหากเขาไม่หยุด ก็ถึงเวลาต้องใช้กฎ Time-Out

ยืดหยุ่นกับระยะเวลา 

ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กแนะนำว่า ระยะเวลาการ Time-Out ควรเท่ากับอายุของลูก เช่นเด็ก 6 ขวบ ก็ควรใช้กฏ Time-Out 6 นาที อย่างไรก็ตาม หากลูกดูสงบและยอมขอโทษภายใน 2 นาทีที่โดนทำโทษ คุณก็ควรหยุดกฏ Time-Out ได้

ซ้ำเติม

หลังจากเจ้าตัวเล็กยอมขอโทษ อย่าพูดซ้ำเติมสิ่งที่ลูกทำพลาด เช่น แม่ไม่ชอบที่ลูกโยนลูกบอลใส่น้อง คุณควรเปลี่ยนเป็น ลูกอารมณ์ดีที่จะเล่นกับน้องแล้วใช่ไหม เราไปเล่นกันเถอะ จะดีกว่า