โฆษณา

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

เล่นเสริมสมองให้เจ้าหนูในขวบปีแรก

กระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดขึ้นโดยอาศัยส่วนต่างๆ ของสมองที่มีหน้าที่แตกต่างกัน

มาร่วมทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น ซึ่งในขั้นตอนของการพัฒนาไหวพริบให้ลูกนั้น เป็นการให้สมองน้อยๆ ของลูกได้มีโอกาสคิดและเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ ของสมอง

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ทุกคนสามารถจะช่วยกระตุ้นลูกน้อยของคุณได้หลายวิธี ดังนี้

1.นำโลกรอบตัวมาแนะนำให้ลูกได้รู้จัก เช่น เริ่มจากอายุ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป คุณควรให้ลูกได้มีโอกาสมองดูรอบๆ และให้ห้อยแขวนสิ่งของที่มีสีขาวดำ หรือสีตัดกัน หรือวางข้างลูกในระยะห่างประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้ลูกได้ฝึกการมอง และการกลอกตา มองสบตาลูกบ่อยๆ เพราะจริงๆ แล้วหน้าของคุณแม่จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นการมองของลูกได้เป็นอย่างดี เพราะสีที่ตัดกันของตาดำ ตาขาว ปากแดง ฟันขาว จะทำให้เด็กสนใจอยากมอง

2. ทารกมักจะชอบเสียงผู้หญิงที่มีโทนสูง และจะทำท่าสนใจฟังทุกครั้งที่ได้ยินเสียงนั้น คุณควรทำเสียงสูงต่ำพูดช้าๆ ชัดๆ และชวนลูกน้อยของคุณคุยด้วยบ่อยๆ เมื่อมีโอกาส

3. คุณสามารถสอนลูกน้อยให้เริ่มรู้จักการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายในการสำรวจสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบข้าง โดยการจับมือของลูกมาทำท่าเหมือนปรบมือเข้าด้วยกัน หรือการออกกำลังแขนขาโดยการจับทำท่าต่างๆ อย่างนุ่มนวล คุณอาจเอานิ้วมือแหย่ที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ของลูกเบาๆ ให้รู้สึกจักกะจี้บ้าง

4. คุณควรพยายามพูดกับลูกน้อยของคุณ โดยให้หันหน้าอยู่ห่างจากลูกประมาณ 8-10 นิ้ว สบตาให้ลูกสามารถมองเห็นสีหน้าของคุณได้ง่าย และพออายุประมาณ 3 เดือน ลูกจะจับแยกเสียงคุณที่แสดงความรู้สึกดีใจ หรือเสียใจได้

5. เมื่อลูกอายุได้ 3-4 เดือน คุณควรให้ลูกได้รู้จักสิ่งต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่มีรูปทรงหรือผิวสัมผัสต่างๆ ความอ่อน-แข็งของวัตถุ และความแตกต่างของรสชาติ

6. เมื่ออายุ 4 เดือนขึ้นไป ลูกเริ่มที่จะเรียนรู้ถึงผลของการกระทำ เช่น เริ่มรู้ว่าถ้าขยับบางส่วนของร่างกายจะมีบางอย่างเกิดขึ้นตามมา เช่น เมื่อขยับมือ ที่ถือกระดิ่งไปมาจะได้ยินเสียงกระดิ่ง หรือถ้าปล่อยของในมือของจะหายไป เป็นต้น ซึ่งการที่ทารกได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถพัฒนาตนเองต่อไปอีกได้เมื่อโตขึ้น เช่น ถ้าดึงผ้าที่คลุมของเล่นออกก็จะได้ของเล่นที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ผ้า

7. เมื่ออายุได้ 10 เดือนขึ้นไป ลูกจะเริ่มมีความจำและความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ที่จะช่วยแยกแยะลักษณะเฉพาะของแต่ละสิ่งที่มีความแตกต่างกัน ลูกจะเริ่มแยกแยะได้ว่า เจ้าตัวที่ชอบเห่าเสียงโฮ่งๆ คือหมา และแมวชอบร้องเหมียวๆ การที่คุณแม่เล่นกับลูกโดยการทำเสียง เหมียวๆ หรือโฮ่งๆ เมื่อเด็กเห็นสัตว์นั้นๆ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้คุณยังสามารถช่วยให้ลูกรู้จักความแตกต่างของความเป็นบุคคลได้โดยการให้ลูกมอง ภาพของตนเองในกระจกเงา พร้อมกับการเรียกชื่อของลูก เพื่อให้ลูกเริ่มรู้จักหน้าตาของตนเอง ซึ่งจะส่งเสริมให้ลูกรู้จักตัวเอง คุณอาจยืนหน้ากระจกพร้อมลูกและชี้บอกให้ลูกเห็นความแตกต่างระหว่างคุณกับลูก

8. ควรให้โอกาสลูกน้อยของคุณในการฝึกใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเพื่อให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ คุณอาจใช้สิ่งของหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว มาเป็นสื่อการสอน และพยายามพูดคำที่เกี่ยวข้อง ให้ลูกฟังซ้ำๆ รวมทั้งพยายามแสดงถึงคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ลูกต้องการจะเรียนรู้ และเป็นรากฐานที่สำคัญในการที่ลูกจะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่มีในโลกอนาคตของเธอต่อไป ซึ่งกลวิธีที่คุณใช้ในการสอนลูกน้อยมีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น


mothersdigest.in.th