โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

นอนถูกท่าช่วยพัฒนาการเรียนรู้

จากการศึกษาของนักการศึกษาและนักจิตวิทยาพัฒนาการของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าท่านอนสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กได้ ดังนั้นถ้าคุณจัดให้ลูกได้นอนในท่าที่เหมาะสมก็จะช่วยส่งเสริมให้ลูกสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการจัดท่านอนให้ลูกคือ ระดับพัฒนาการตามวัยของลูก โดยสามารถทำได้ ดังนี้

ช่วงอายุแรกเกิด 3 เดือน : ลูกสามารถเอียงคอไปมาได้ แต่ยังชันคอได้ไม่ดีนัก

ท่านอนที่เหมาะสม ควรจัดให้ลูกนอนหงายหรือนอนตะแคง เพื่อให้ลูกสามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกล้ามเนื้อคอของลูกยังไม่แข็งแรง การเคลื่อนไหวของคอจึงเป็นลักษณะหันไปมาซ้าย-ขวา ดังนั้นการให้ลูกนอนหงายหรือนอนตะแคงจึงเป็นท่านอนที่เหมาะสม มากที่สุด ไม่ควรให้ลูกนอนคว่ำโดยที่ไม่มีคนดูแลใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายที่เรียกว่า ภาวะ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) ที่อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้
นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าเด็กที่ถูกจับให้นอนคว่ำจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้น้อยกว่า และเมื่อโตขึ้นจะมีความช่างสังเกตน้อยกว่าเด็กที่นอนหงาย ส่วนสิ่งแวดล้อมที่ควรจัดให้ลูกในช่วงนี้ควรเป็นภาพหรือของเล่นที่มีสีสันสดใสและมีเสียง อาจเคลื่อนไหวในแนวนอนหรือแนวราบก็ได้

ช่วงอายุ 4-6 เดือน : กล้ามเนื้อคอที่แข็งแรงมากขึ้น ลูกจึงสามารถชันคอ ยกศีรษะ และหันหน้าไปมาได้ดีขึ้น

ท่านอนที่เหมาะสม ท่านอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกได้ดีคือ ท่านอนคว่ำ ลูกจะชอบยกศีรษะขึ้นมองสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า และก้มหน้าลงมองภาพหรือของเล่นที่อยู่บนพื้น ดังนั้นสิ่งแวดล้อมที่ควรจัดให้ลูกในช่วงวัยนี้จึงควรเป็นผ้าปูที่นอนที่มีสีสันสดใส มีลวดลายที่ไม่ซับซ้อนมากเกินไป และควรแขวนของเล่นที่มีเสียงและเคลื่อนไหวได้ทั้งในแนวดิ่งและแนวราบเอาไว้ให้ลูกดูด้วย และหากทารกอยู่ในท่านอนคว่ำ ต้องมีคนดูแลใกล้ชิดและลักษณะที่นอน หมอนต้องไม่นุ่มนิ่มจนมีปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจได้

ช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป : สามารถเคลื่อนไหวศีรษะ คอ ไหล่ แขน ขา และหลังส่วนบนได้ดี พลิกตัวไปมาได้

ท่านอนที่เหมาะสม ท่านอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับลูกวัยนี้สามารถทำได้หลายแบบ โดยมักขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณต้องการให้ลูกเรียนรู้ โดยอาจให้ลูกนอนหงาย กึ่งนั่งกึ่งนอน นอนตะแคง หรือนอนคว่ำ สิ่งแวดล้อมที่ควรจัดให้ลูกเรียนรู้ควรเป็นของเล่นที่เคลื่อนไหวในแนว 360 องศา

Tips.Sweet dream

ให้ลูกเข้านอนเป็นเวลา พยายามจัดตารางการเข้านอนของลูก รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ของลูกให้เป็นเวลา และทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ วิธีจะช่วยให้เด็กๆ คุ้นเคย จดจำและยอมปฏิบัติตามง่ายขึ้น เช่น หลังจากคุณพ่อเล่านิทานให้ฟังที่เตียงนอนจบแล้วก็ถึงเวลาเข้านอน

สอนให้ลูกรู้จักกลางวันกลางคืน ช่วงกลางวันไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนอย่างเดียว แต่ควรเล่นหยอกล้อและสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้ลูกทำ ส่วนช่วงกลางคืนต้องพยายามสร้างบรรยากาศเงียบสงบ ไม่เปิดไฟสว่าง พยายามลดกิจกรรมลง พูดเสียงเบา เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าเวลากลางคืนเป็นเวลาของการนอนหลับพักผ่อน

ให้ลูกนอนหลับได้ด้วยตัวเอง เวลาที่พาลูกเข้านอนคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีอุ้มเขย่า พานั่งรถเข็น รถยนต์ หรือให้ดูดนมเพื่อกล่อมถึงจะยอมหลับ เพราะวิธีเหล่านี้จะทำให้ลูกติดและเคยตัวจนต้องทำแบบนั้นต่อไปจนโตถึงจะหลับได้ หากจะกล่อมก็อาจจะเป็นเพียงการร้องเพลงกล่อม ลูบเนื้อลูบตัวบนเตียง ถ้าจะอุ้มกล่อมก็ควรจะวางลูกบนที่นอนเมื่อเห็นว่าง่วงแต่ยังไม่หลับ จะเป็นการช่วยฝึกให้ลูกรู้ว่าเตียงคือที่นอน และตัวเขาสามารถหลับเองได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไรมาช่วย

ไม่รีบอุ้มหรือป้อนนมเข้าปากลูกทันทีเมื่อร้อง อย่าเพิ่งถลาเข้าไปอุ้มลูกทันทีทุกครั้ง เมื่อขยับตัวหรือส่งเสียงร้องบนเตียง ลองปล่อยสัก 2-3 นาที ลูกอาจจะเงียบเสียงและหลับต่อไปได้ และการที่ลูกตื่นมาร้องไม่ได้แปลว่าลูกจะหิวเสมอไป ไม่จำเป็นต้องเอาอะไรเข้าปากเขาแม้กระทั่งนมแม่ ลองฝึกกล่อมให้เค้าหลับต่อไปให้ได้ อาจจะร้องอยู่สัก 3-4 วัน ก็จะเคยชินกับการหลับยาวทั้งคืน ถ้าเข้าไปอุ้มหรือให้กินนมทุกครั้งที่ตื่นลูกก็จะชินแบบนั้น แต่การที่ตื่นขึ้นมา แล้วมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ก็จะช่วยเรื่องความอบอุ่นทางด้านจิตใจของลูกได้