โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

นิสัยไม่ดี เลิกเสียทีเถอะลูก

แม้ลูกวัยอนุบาลจะแสดงความสามารถว่าช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว แต่ทำไมหนอ นิสัยแบบวัยเบบี๋ยังไม่เลิกเสียที ทั้งอมนิ้ว ขี้โวยวาย งอแง หนำซ้ำยังฉี่รดที่นอนอีก 4 ปัญหาพฤติกรรมที่แก้ยากเหล่านี้ เรามีวิธีแก้ไขง่ายๆ และเร็วมาฝากกัน

ไม่ยอมเลิก เป็นเด็กอมมือ
หนูน้อยวัย 5 ขวบแต่ยังอมนิ้วอยู่ อาจส่งผลต่อยิ้มสวยๆ ของเจ้าตัวน้อยได้ เพราะจะทำให้ฟันของลูกยื่นออกมาด้านหน้า กลายเป็นปัญหาทางทันตกรรมได้
คุณต้องเตือนให้ลูกน้อยรู้สึกตัวเมื่อเขานำนิ้วเข้าปาก โดยควบคุมน้ำเสียงของคุณให้สุขุม ไม่โวยวายหรือใส่อารมณ์ รวมทั้งอย่าตำหนิดุว่า เพราะลูกจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้อมนิ้ว การตะโกนใส่ลูกจะยิ่งทำให้หนูน้อยรู้สึกเครียดและต้องการที่จะดูดนิ้วมากยิ่งขึ้น ควรลองหากิจกรรมให้ลูกทำเพื่อให้มือไม่ว่าง เช่น วาดรูป งานประดิษฐ์ ศิลปะต่างๆ
เมื่อลูกไม่อมนิ้วตลอดทั้งวัน ก็จะทำให้หนูน้อยมีแรงใจจะเลิกพฤติกรรมนี้ได้มากขึ้น แต่หากทั้งหมดที่ผ่านมาใช้ไม่ได้ผล ให้ใช้พลาสเตอร์ติดแผลพันที่นิ้วมือของลูก ก็น่าจะช่วยให้หนูน้อยไม่อมนิ้วได้มากขึ้น

ว๊าย! ฉี่รดที่นอน หรือ ชุดเด็กที่ใส่
การแก้ไขอาการฉี่รดที่นอนของลูก ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำว่าคุณไม่ควรทำเหมือนว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ แม้ว่าลูกจะดูเหมือนว่าโตมากพอที่จะรู้เรื่องราวต่างๆ แล้ว แต่กระเพาะปัสสาวะของหนูน้อยวัยนี้ ก็ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะเก็บปัสสาวะไว้ได้ตลอดทั้งคืน ร่วมทั้งเด็กๆ ก็ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะปลุกให้ตัวเองตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำได้ อย่างไรก็ตามปัญหานี้มักจะหายไปเมื่อลูกอายุ 6-7 ปี
อย่างไรก็ตามคุณสามารถช่วยลดความถี่ในการฉี่ลดที่นอนของลูกได้ ด้วยการลดปริมาณของเหลวที่ลูกจะได้รับ 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรือนม รวมทั้งให้ลูกปัสสาวะก่อนเข้านอน หรือหากให้มั่นใจจริงๆ คุณก็อาจจะปลุกลูกน้อยให้ตื่นไปเข้าห้องน้ำระหว่างคืน วิธีนี้จะช่วยให้ลูกตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกได้หากว่าเขาต้องการ

จอมโอดครวญ ทำไงดี
วิธีการที่น่าจะได้ผลดีที่สุดคือการทำเป็นไม่สนใจ เมื่อใดก็ตามที่ลูกส่งเสียงร้อง รวมทั้งอย่าให้ในสิ่งที่ลูกร้องขอด้วย ตราบใดที่หนูน้อยยังโอดครวญอยู่ ลองถามลูกว่า ลูกคิดว่าแม่รู้สึกอย่างไรเมื่อหนูส่งเสียง หรือ ลูกจะใช้วิธีอื่น บอกว่าต้องการอะไรได้ไหม หนูน้อยวัย 4-5 ปี สามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้แล้ว และการทำเช่นนี้จะช่วยให้หนูน้อยตระหนักได้ว่าพฤติกรรมของเขาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

เด็กเจ้าน้ำตา
ขณะที่เด็กๆ ส่วนใหญ่ร้องไห้เป็นครั้งคราว แต่หนูน้อยของคุณกลับร้องไห้ทุกครั้งที่เจอปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เช่น ใส่ถุงเท้าไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าจะกินนมหรือน้ำส้มดี เอะอะก็น้ำตาไหล เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ปล่อยไว้ก็ไม่ได้เหมือนกัน
พฤติกรรมอ่อนไหวสุดๆ นี้ คุณต้องให้หนูน้อยเรียนรู้ที่จะแสดงอารมณ์ในทางที่เหมาะสมกว่านี้ได้ เริ่มจากพูดคุยถึงความรู้สึกของลูก และเล่าให้ลูกฟังถึงเวลาที่คุณอยากจะร้องได้ แต่ต้องระงับอารมณ์และหันมารับมือกับสถานการณ์นั้น ๆ เป็นตัวอย่างให้ลูกเรียนรู้

กัดเล็บ
แก้ด้วยการตัดเล็บของลูกให้สั้น ให้ลูกเก็บตุ๊กตาตัวเล็กๆ หรือผ้าเช็ดหน้าไว้ใกล้มือ หากรู้สึกอยากกัดเล็บเมื่อไร ก็นำตุ๊กตาหรือผ้าเช็ดหน้ามาถือลูบไปลูบมา ก็จะช่วยหยุดพฤติกรรมกัดเล็บได้

ดูดแขนเสื้อหรือคอเสื้อ
เลือกเสื้อที่ใช้ผ้าผสมใยสังเคราะห์ เนื่องจากเนื้อผ้าจะไม่ยืดหยุ่นมากนัก ทำให้ยากต่อการที่ลูกจะดึงแขนเสื้อขึ้นไปดูดหรือกัด พยายามเลือกเสื้อแขนสั้นและเสื้อคอวีเพื่อป้องกันอีกทางหนึ่งด้วย

แคะจมูก
ให้ลูกพกกระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้าไว้กับตัว และชื่นชมเมื่อหนูน้อยนำกระดาษหรือผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาใช้ ระวังอย่าทำให้ลูกรู้สึกอายด้วยการว่าลูกต่อหน้าคนอื่นๆ ในทางกลับกัน อาจพูดว่า ลูกน่าจะใช้กระดาษทิชชูนะคะ