โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

เย้! ฟันหนูขึ้นแล้ว

ฟันน้ำนมคู่แรกจะเริ่มขึ้นเมื่อเจ้าตัวน้อยอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป โดยจะเริ่มจากฟันหน้าข้างล่างก่อน บางคนอาจขึ้นเร็วหรืออาจขึ้นช้ากว่านี้ประมาณ 1 ขวบครึ่ง จากนั้นฟันน้ำนมจะค่อยๆ ทยอยขึ้นจนครบ 20 ซี่ เมื่อลูกมีอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง

หนูเป็นแบบนี้ เพราะฟันกำลังขึ้น

เจ้าตัวน้อยที่ฟันเริ่มขึ้นบริเวณแก้มจะมีสีชมพูหรือแดงจัด และมีน้ำลายออกมามากกว่าปกติ บางครั้งไหลย้อยออกมานอกปาก เหงือกบริเวณที่ฟันกำลังขึ้นอาจบวมแดงและคัน ฟันจะดันเหงือกให้นูนเป็นตุ่ม จากนั้นเหงือกจะเปิดให้ฟันงอกตามออกมา ระยะนี้ลูกจะเจ็บเหงือกจึงมักงอแงมากกว่าปกติ และจะเป็นอยู่อย่างนี้ประมาณ 2-3 อาทิตย์ จนกระทั่งฟันซี่นั้นขึ้นมา

หากลูกมีการปฏิเสธอาหาร ดูดนิ้วมาก หรือถ้าลูกร้องเมื่อเริ่มดูดนมก็อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นเรื่องของฟันที่กำลังขึ้น ลูกอาจเอามือถูที่หูบ่อยๆ เหมือนกับว่าเขาเจ็บหู แต่เหตุผลที่แท้จริงก็คือ ประสาทที่ไปยังฟันต้องผ่านบริเวณหู และมันทำให้ลูกรู้สึกสบายขึ้นเมื่อทำการถู...ถู...ถูไปรอบๆ บริเวณนั้น ซึ่งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจผิดว่าลูกเจ็บที่หูได้

รับมือได้ เมื่อลูกน้อยปวดฟัน

1. คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บเหงือกของลูก ถ้าลูกไม่เจ็บถึงขนาดแตะไม่ได้ ให้คุณล้างนิ้วมือให้สะอาด แล้วถูเบาๆ บริเวณเหงือกของลูก แรกๆ ลูกอาจไม่ชอบแต่ต่อไปลูกจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการถูของคุณ เพราะมันช่วยบรรเทาอาการปวดให้ลูกได้ คุณจะสังเกตเห็นว่าลูกจะรอเวลาที่คุณจะถูเหงือกให้ และบางทีลูกก็จะถูเหงือกของตัวเองไปด้วยในขณะที่กำลังดูดนิ้ว และการทำความสะอาดเหงือกของลูกหลังรับประทานอาหาร นมเสร็จจะช่วยลดอาการอักเสบในขณะฟันขึ้นได้ดีที่สุด

2. คุณพ่อคุณแม่สามารถบรรเทาอาการปวดฟันของลูกได้ โดยการใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ประคบที่เหงือกของลูก หรืออาจหาแครอท แตงกวา ฝรั่ง แอปเปิ้ล ขนมปังกรอบชิ้นเล็กๆ หรือของเล่นประเภทยางซิลิโคนสำหรับเด็กที่ฟันกำลังขึ้น โดยอาจนำไปแช่เย็นก่อนนำมาให้ลูกกัดเล่น ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันของลูกได้

3. ควรใช้สำลีชุบน้ำหรือผ้าสะอาดเช็ดบริเวณรอบปากของลูกเมื่อมีน้ำลายไหลย้อยออกมานอกปาก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเป็นผื่นแดงจากอาการติดเชื้อจากน้ำลาย ในเด็กบางรายที่มีอาการมากคือ อาจปวดเหงือกมากจนกระทั่งมีอาการบวมแดง และอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดลดไข้จำพวกยาพาราเซตามอลสำหรับเด็ก หรือชนิดน้ำเชื่อม (ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้) และควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ด้วย
แก้ไขล่าสุด: 15 พ.ย. 2554