โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ทำไม...นมแม่ดีที่หนึ่งเลย

น้ำนมแม่เป็นสิ่งวิเศษสุดที่ธรรมชาติสรรค์สร้างมา มีประโยชน์ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรง ร่าเริงสมวัย ช่วยพัฒนาทั้งร่างกาย สมองและสติปัญญาของลูกน้อย นอกจากนี้การให้นมแม่ยังเป็นการเพิ่มคุณค่าความผูกพันลึกซึ้งทางใจระหว่างแม่กับลูกยิ่งนัก

ผลดีของการให้ลูกดูดนมแม่
มดลูกเข้าอู่เร็ว
ป้องกันภาวะตกเลือดหลังคลอด
รูปร่างกลับสู่ภาวะเดิมได้เร็ว
การให้ลูกดูดนมแม่อย่างต่อเนื่อง จะช่วยเว้นระยะห่างของการตั้งครรภ์ได้
ลดอัตราการเกิดของมะเร็งเต้านม

ประโยชน์ของนมแม่ที่มีต่อลูก
สด สะอาด สะดวก ประหยัดและปลอดภัย
มีสารอาหารครบถ้วนและมีแร่ธาตุบำรุงสมองมากกว่านมวัว มีปริมาณของเกลือน้อยกว่านมวัวถึง 4 เท่า
ย่อยง่าย ดูดซึมได้ดี ไม่มีของเสียคั่งค้าง
มีภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันไม่ให้เด็กติดเชื้อหวัด ท้องเดินหรือปอดอักเสบ ลดความเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้
ลดความเสี่ยงต่อการแพ้นมวัว
เด็กดื่มนมแม่จะอ้วนน้อยกว่านมวัว
ส่งเสริมความผูกพันรักใคร่ในแม่และเด็ก

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร
แม่ควรตรวจเต้านมดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะหัวนมแบนหรือสั้นกว่าปกติ ซึ่งจะต้องทำการนวดหรือดึงหัวนมให้ยืดออกมาตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ โดยใช้นิ้วสองนิ้วกดบริเวณด้านข้างของหัวนมดันให้หัวนมโผล่ขึ้นมาและรูดออกไปทางด้านข้าง ทำสลับทั้งด้านบนและด้านล่าง แต่ในระยะใกล้คลอดควรงดการนวดกระตุ้น เพราะอาจจะทำให้มดลูกเกิดการหดตัวแรงขึ้น และมีผลทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้
ภายหลังคลอดแม่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ประกอบกับการดูดกระตุ้นของลูก จะทำให้มีการสร้างน้ำนมทันที เต้านมใหญ่หรือเล็กจะมีจำนวนของต่อมน้ำนมไม่แตกต่างกัน ต่อมน้ำนมจะอยู่เป็นกลุ่มประมาณ 10-15 กลุ่ม รอบๆ ต่อมน้ำนมจะมีเซลล์ลักษณะพิเศษซึ่งสามารถหดรัดตัวได้ ทำหน้าที่บีบน้ำนมออกจากต่อมน้ำนม ให้ไหลออกมาตามท่อน้ำนมมายังบริเวณที่เก็บกักน้ำนมซึ่งอยู่บริเวณใต้ลานนม
เมื่อเด็กดูดนมแม่ น้ำนมจะถูกบีบไหลออกมาทางรูเปิดของน้ำนม เมื่อเด็กดูดนมจะกระตุ้นบริเวณหัวนมแม่ ซึ่งจะส่งผลไปยังต่อมใต้สมองของแม่ให้หลั่งฮอร์โมนออกมา 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) และฮอร์โมนที่ช่วยในการหลั่งน้ำนมอย่างต่อเนื่องได้ (อ๊อกซิโตซิน) การให้เด็กดูดนมแม่ทุก 2-3 ชั่วโมง และดูดนานพอในแต่ละครั้งจะช่วยให้ฮอร์โมนนี้มีระดับสูงอยู่เสมอ แม่ก็จะมีน้ำนมมากพอสำหรับลูก


คุณแม่จำนวนมากยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่รู้จะอุ้มลูกท่าไหน ให้นมอย่างไร ให้แล้วลูกไม่ดูดนมหรือดูดนมได้น้อย แบบนี้เลยหงุดหงิดใจทั้งคุณแม่คุณลูก อย่าเพิ่งท้อเพราะปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับคุณแม่มือใหม่ทุกคน มาดูกันว่าแต่ละท่าที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร

1. ท่านอนขวางบนตัก
หาหมอนมาช่วยพยุงหลัง รองใต้แขนและวางบนตักเพื่อให้เกิดความสบายขณะให้นมลูก
อุ้มลูกนอนในท่าตะแคง ท้องของลูกแนบชิดกับท้องของคุณ ใบหน้าของลูกเงยขึ้นจนมองเห็นหน้าคุณ ในกรณีที่ลูกดูดนมด้านขวาลำตัวของลูกจะอยู่บนท่อนแขนขวาของคุณ และให้ใช้มือขวากุมกระชับก้นลูกเอาไว้

2. ท่าฟุตบอล
หาหมอนมาวางซ้อนกันด้านข้างลำตัวของคุณ โดยให้ความสูงของหมอนเมื่อวางลูกลงไปแล้วอยู่ในระดับเต้านมของคุณ
วางลูกลงบนหมอนแล้วโอบกระชับลูกเข้ากับสีข้างด้านที่คุณต้องการจะให้นม โดยจัดให้ลูกนอนในท่ากึ่งตะแคง กึ่งนอนหงาย เท้าชี้ไปด้านหลัง
ใช้ฝ่ามือด้านเดียวกับเต้านมประคองท้ายทอยและหลังของลูกเอาไว้

3. การให้นมในที่สาธารณะ
ในร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้าบางแห่งจะจัดสถานที่สำหรับให้นมโดยเฉพาะไว้บริการ หากไม่มีคุณสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ เพื่อขอใช้สถานที่ที่สงบเงียบและไม่พลุกพล่านภายในบริเวณนั้นๆ แทน
พาดผ้าขนหนูข้ามหัวไหล่ไว้
อุ้มลูกพาดทับผ้าขนหนูที่วางพาดหัวไหล่ไว้ แล้วเอาผ้าที่อยู่ด้านหลังมาโอบตัวลูกไว้
โดยคอยดึงให้ผ้ายังคงปกคลุมทรวงอกของคุณแม่ไว้
ทั้งท่านอนขวางบนตัก และท่าฟุตบอลเป็นท่าที่เหมาะในการให้นมลูกในที่สาธารณะ เพราะทั้ง 2 ท่านี้คุณจะสามารถกางผ้าขนหนูคลุมจากบริเวณหัวไหล่ของคุณลงมาปิดบริเวณศีรษะของเจ้าตัวเล็ก รวมถึงหน้าอกที่เปิดออกให้ลูกได้ดูดด้วย โดยคุณควรเลือกผ้าขนหนูที่ผืนไม่ใหญ่มากนักและไม่ควรปิดหน้าของลูกจนมิดเกินไป

การให้นมถูกท่าจะช่วยให้สบายตัวสบายใจทั้งคุณแม่และคุณลูก คุณแม่ก็ไม่เมื่อย น้ำนมก็ไหลคล่อง คุณลูกก็มีความสุขเพราะมีน้ำนมไหลให้กินเต็มอิ่ม อิ่มแล้วก็นอนหลับสบาย ตื่นมาก็อารมณ์ดี พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทุกวัน

Mother Support : ปรึกษาปัญหาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ถนนราชวิถี เขตราชเทวี ชั้น 11 ตึกอาคารสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรุงเทพมหานคร โทร. 0-2354-8404 ต่อ 11 Fax: 0-2354-8409 http://www.thaibreastfeeding.org