โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ผาดโผนเกินไปหรือเปล่านะ

เด็กๆ แต่ละคนล้วนมีความหลากหลายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บางคนชอบสนุก บางคนเรียบร้อย บางคนชอบความตื่นเต้น เร้าใจ แต่บางคนก็ขี้ตกใจ ขี้กลัว ดังนั้นการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กร่าเริงสนุกสนาน สดใส มีชีวิตชีวา ย่อมเป็นการสร้างรากฐานชีวิตที่ดีให้กับลูกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกน้อยวัย 1-2 ปี ซึ่งช่วงนี้ลูกจะเป็นตัวของตัวเองที่สุด เขาจะมีพัฒนาการอยากรู้ อยากเห็น อยากทดสอบความสามารถของตนเอง ซึ่งการตามใจและยอมลูกมากจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกได้
แต่ในทางกลับกันการห้ามมากเกินไป ดุมากไปจนลูกหงอไม่กล้าทำอะไร ก็จะไปขัดขวางการเรียนรู้ของลูกให้หยุดชะงักอยู่แค่นั้น และสุดท้ายก็ไม่เกิดผลดีใดๆ กับลูกเลย

Problem

แต่คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมลูกเราชอบเล่นอะไรที่รุนแรง หรือชอบเล่นพิเรนทร์ที่เด็กคนอื่นเขามักจะไม่เล่นกัน ซึ่งสาเหตุที่เด็กบางคนชอบเล่นรุนแรง ผาดโผน ยับยั้งตัวเองไม่ได้ อาจเป็นเพราะ

1. เป็นช่วงพัฒนาการปกติในวัย 1-2 ปี ที่เด็กยังไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีนัก เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ทำตามความพอใจของตนเองเป็นหลัก
2. การเลี้ยงดูที่ยอมเด็กมากเกินไป เนื่องจากกลัวเด็กอาละวาด ร้องไห้ จนเด็กกลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเอง
3. มีต้นแบบของความรุนแรงหรือไม่ยับยั้งตนเอง
4. มีผู้ส่งเสริมความก้าวร้าว ผาดโผน หรือมีคนเชียร์ คอยชื่นชมเวลาที่ทำอะไรแผลงๆ
5. หรือเด็กมีความบกพร่องในการทำงานของสมอง ทำให้การควบคุม ยับยั้งตนเองทำได้น้อยลง

Solution

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยชอบเล่นผาดโผน เล่นแบบรุนแรงนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร จากนั้นก็แก้ปัญหาให้ตรงจุดดังนี้

1. หากมองว่าเป็นช่วงพัฒนาการปกติในวัย 1-2 ปี ที่เด็กยังไม่เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีนัก คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นคนให้คำแนะนำลูกเกี่ยวกับการเล่น กฎกติกา และวิธีการเล่นที่ถูกต้อง
2. หากเกิดจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่เองที่ยอมลูก ตามใจลูกมากจนเกินไป ก็ควรลด ละ เลิกพฤติกรรมนั้นเสียก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป การฝึกสอนที่มีกฎเกณฑ์ ขอบเขตที่ให้โอกาสลูกทำสิ่งต่างๆ อย่างชัดเจน และการฝึกอย่างสม่ำเสมอจะช่วยได้ เช่น ถ้าลูกเล่นเกินขอบเขตต้องหยุดเล่น หรือหยุดพฤติกรรมของลูกให้ได้ ถึงลูกจะเสียใจ ร้องไห้ ก็อย่าเอาใจใส่หรือให้ความสนใจ จากนั้นให้เบี่ยงเบนความสนใจลูกออกไปและไม่ตามใจลูก
3. หากพฤติกรรมการเล่นแบบผาดโผนเกิดจากการที่มีต้นแบบของความรุนแรงให้ลูกเห็น คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกหัดยับยั้งอารมณ์ของตัวเอง และการที่จะฝึกสอนลูกได้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นอยู่ตลอดเวลาด้วย
4. งดการส่งเสริมความก้าวร้าว ผาดโผน หรือคอยเชียร์ คอยชื่นชมเวลาที่ลูกทำอะไรแผลงๆ ยิ่งมีผู้ใหญ่ชื่นชมบ่อยๆ ลูกอาจทำจนติดเป็นนิสัย และเข้าใจผิดคิดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้ว
5. หากสงสัยว่าพฤติกรรมของลูกเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมอง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กเพื่อขอคำปรึกษา และหาวิธีแก้ไขต่อไปค่ะ