โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

จับสังเกตสุขภาพของเบบี๋

ด้วยสุขภาพของวัยแรกเกิดช่างเป็นช่วงที่อ่อนไหว และคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็อาจจะงุนงงและตกใจกับอาการต่างๆ ของลูกน้อย ดังนั้นอย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไป เรามาเรียนรู้อาการต่างๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเจ้าหนูตัวน้อยวัยแรกเกิดกัน

ปานแดงชนิดเรียบ ปานแดงที่เปลือกตาบน หน้าผากและท้ายทอย พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของทารก แรกเกิด ปานชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน และจะแดงขึ้นเวลาทารกร้อง ปานแดงที่เปลือกตามักหายไปเมื่อทารกมีอายุหนึ่งปี ปานแดงที่หน้าผากมักพบร่วมกับปานแดงที่ท้ายทอย มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม โดยมีฐานอยู่ที่ชายผมและมุมชี้ไปทางจมูก stork mark ปรากฏนานกว่าหนึ่งปี และอาจคงอยู่ให้เห็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่เป็นครั้งคราวเวลาโกรธ

ภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้า เป็นภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้า เกิดจากการมีเลือดคั่งและมีจุดห้อเลือด (petechiae) จำนวนมาก เกิดจากการถูกบีบรัดโดยการคลอดตามธรรมชาติหรือจากสายสะดือพันคอ จุดห้อเลือดมักหายอย่างรวดเร็วใน 2-3 วัน

ภาวะเขียวที่มือและเท้า ภาวะเขียวที่มือและที่เท้า พบได้บ่อยในทารก 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เกิดจากการไหลเวียนเลือดที่มือและเท้าช้าลง หรืออยู่ในที่เย็นและหรืออาจมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ

เลือดออกที่ตาขาว เลือดออกที่ตาขาวหรือรอบๆ แก้วตา เป็นภาวะที่พบได้บ่อย และหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์

ตุ่มขาวในปาก มักเกิดที่กลางเพดานปากของทารกแรกเกิด อาจมีเม็ดสีขาวขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (เส้นผ่าศูนย์ กลาง 1 มิลลิเมตร) เรียกว่า Epithelial pearl หรือ Epstein pearl ซึ่งเป็นของปกติในทารกแรกเกิด อาจมีจำนวนมากน้อยต่างกัน ตุ่มเล็กๆ นี้ไม่ทำให้ทารกไม่ดูดนมและจะหลุดไปเอง อาจพบตุ่มขาวลักษณะนี้ที่เหงือก ที่หัวนม และปลายอวัยวะเพศชาย ซึ่งเรียกว่า Epidermal inclusion cyst คนสูงอายุเรียกสิ่งใดที่มีสีขาวในปากของทารกว่า หละ

ลิ้นขาว พบได้ในทารกแรกเกิดโดยปรากฏสีขาวกระจายเท่าๆ กัน บริเวณกลางลิ้น ซึ่งจะหายเองเมื่อทารกมีอายุมากขึ้นจึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ การวินิจฉัยแยกโรคจากเชื้อรา ซึ่งพบมีแผ่นสีขาวเป็นหย่อมๆ ที่ลิ้น และพบร่วมกับที่เพดานปาก กระพุ้งแก้มหรือที่ริมฝีปากด้วย

ปานดำ (Mongolian spot) เป็นสีของผิวหนังที่มีสีเขียวเทาหรือสีน้ำเงินดำ มีขอบเขตไม่ชัดเจน เกิดจากการมีเซลล์เมลานินแทรกซึมอยู่ในชั้นผิวหนังมาก พบที่บริเวณก้นกบ ก้นและหลังส่วนเอว อาจพบได้ที่หลัง ส่วนบนหัวไหล่ แขนและขา ภาวะนี้พบร้อยละ 90 ของทารกแรกเกิด โดยพบตั้งแต่ทารกคลอดออกมา และมักหายไปก่อนพ้นวัยทารก

ถุงอัณฑะยาน ถุงอัณฑะอาจยานจนเกือบสัมผัสที่นอน คนสูงอายุมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และให้การรักษา โดยการประคบถุงอัณฑะด้วยใบพลูลนไฟ ถุงอัณฑะยานมากหรือน้อยใช้เป็นลักษณะหนึ่งในการประเมินอายุครรภ์ของทารก ถุงอัณฑะยานพบในทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนดหรือเกินกำหนดได้

ของเหลวไหลออกทางช่องคลอด ทารกมีเมือกสีขาวข้นออกมาทางช่องคลอด บางครั้งอาจมีเลือดที่มาจากการหลุดของเยื่อบุมดลูกปนออกมามากที่สุด ในระหว่างวันที่ 3-5 หลังคลอดและหายไปภายใน 2 สัปดาห์ กลไกที่ทำให้เกิดยังไม่ทราบ