โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อเจ้าตัวดีขี้โมโห...

สถานการณ์สมมติ : คุณเดินเข้าไปหาเจ้าตัวเล็กที่กำลังเพลินกับของเล่นชิ้นใหม่ หลังจากที่เตือนลูกล่วงหน้าแล้วว่าอีก 5 นาทีจะได้เวลาอาบน้ำ เมื่อถึงเวลาคุณบอกลูกว่า ได้เวลาอาบน้ำแล้วจ๊ะ เจ้าตัวดีทำเฉยเหมือนไม่ได้ยิน ไปอาบน้ำกันเถอะ คุณยังไม่ละความพยายาม คราวนี้เอื้อมมือไปดึงแขนลูกเบาๆ ด้วย เจ้าตัวเล็กสบัดแขนทันใด พร้อมแผดเสียงว่าม่ายยย ม่ายยยอาบ ไป!! ไปเล้ยยย! เจ้าตัวดีส่งเสียง กราดเกรี้ยว ชี้มือไล่ให้คุณไปไกลๆ คุณจะ....

1. ลูกตวาด ฉันก็ตวาดสุดเสียงเหมือนกัน พูดดีๆ แล้วไม่ฟัง ก็คงต้องโดนดีกันบ้างล่ะ ว่าแล้วสงครามกลางบ้านก็เกิดขึ้น! ลูกตวาด คุณตะคอก !! ยื้อยุดกันสุดฤทธิ์ ฉันจะยอมแพ้ลูกไม่ได้!!!

2. หันหลังให้เจ้าตัวเล็ก เดินออกไปสงบสติอารมณ์ ก่อนเปิด Baby & Kids digest เพื่ออ่านคู่มือสยบเด็กอารมณ์ร้อน ระงับอารมณ์ของคุณไม่ให้ปรอทแตก....ก่อนจะกลับไปรับมือกับลูก

หากคุณเลือกข้อ 2 ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะคุณได้เลือกมาถูกทางแล้ว หากช่วงนี้คุณรู้สึกว่านางฟ้าน้อยๆ หรือเจ้าชายน้อยสุดน่ารักของคุณ กลายเป็น Little Devil นั่นอาจเป็นเพราะพัฒนาการตามวัยของลูกก็เป็นได้

โมโห....เพราะไม่ได้ดั่งใจ
ในเมื่อเจ้าตัวดีอยากจะเล่น เล่น แล้วก็เล่น แต่คุณแม่ดันไปขัดใจให้ไปอาบน้ำ มีหรือจะยอมไปดีๆ ว่าแล้วก็เลยอาละวาด เพราะไม่ได้ดั่งใจ นี่คือสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เจ้าตัวดีอารมณ์ร้อนค่ะ เรียกได้ว่าเป็นวิธีหนึ่งที่หนูน้อยนำมา ทดลองใช้ เพื่อต่อรองให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ และหากว่าคุณทำตามทุกครั้งที่ลูกอาละวาด กรีดร้อง เขาก็จะเข้าใจว่านี่เป็นวิธีที่ถูกต้องและใช้วิธีการนี้บ่อยๆ ดังนั้น การจะสยบคุณหนูขาวีนได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของคุณพ่อคุณแม่ต่อเจ้าตัวเล็กด้วย

โมโหอย่างนี้... พ่อแม่ต้องมีสติ
เมื่อหนูน้อยอาละวาด สิ่งแรกที่พ่อแม่อย่างเราควรทำคือ ตั้งสติ และพยายามสงบสติอารมณ์ เมื่อลูกร้อนก็อย่าร้อนไปกับลูก เมื่อคุณควบคุมอารมณ์ไม่ให้โมโหได้แล้วก็ต้องมาคิดต่อว่าเรื่องใดสำคัญ และเรื่องใดไม่สำคัญ เช่น หากคุณคิดว่ามันสำคัญมากที่ลูกต้องทำตามคุณในทุกเรื่อง ฉะนั้นคุณก็ต้องยอมรับผลที่ตามมานั่นก็คือการมีสงครามย่อยๆ ภายในบ้านระหว่างคุณกับลูก แต่หากคุณคิดว่าการปรับพฤติกรรมและสอนให้ลูกควบคุมอารณ์ไม่โวยวาย ขี้โมโห สำคัญกว่า คุณก็อาจจะต้องยอมผ่อนปรนบ้าง แผนการที่ดีคือ ตั้งกฎให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีนี้จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีกฎเกณฑ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนั้นจะต้องเป็นเรื่องที่สำคัญจริงๆ เช่น ทุกครั้งที่ข้ามถนน ต้อง ให้ผู้ใหญ่จูงมือ

หลากวิธี สยบอารมณ์ร้อน
หลังจากที่คุณตัดสินใจได้แล้วว่าเรื่องใดที่คุณจะให้ความสำคัญ ต่อไปก็มาถึงวิธีการรับมือเมื่อเจ้าตัวน้อยปรอทแตก รับรองว่าหากทำได้คุณจะสยบให้เจ้าตัวเล็กสงบลงได้ในที่สุด

ไม่สนใจ ฟังดูง่าย แต่ทำได้ไม่ง่ายนัก ในเมื่อเจ้าตัวดีแผดเสียงดิ้นทุรนทุรายอยู่ตรงหน้า แล้วจะไม่สนใจได้อย่างไรใช่ไหมค่ะ วิธีนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องใช้ความพยายามสักนิดในการที่จะไม่สนใจเจ้าตัวดีที่อาละวาดอยู่ เพราะโดยทั่วไปหนูน้อยที่แสดงอาการเช่นนี้ก็เพื่อเรียกร้องความสนใจนั่นเอง และยิ่งคุณสนใจ ก็จะยิ่งเป็นแรงเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมไม่น่ารักเช่นนี้ต่อไป คราวหน้าหากลูกรักเริ่มอาละวาด ลองทำเฉย เปิดโทรทัศน์ดู แกล้งทำเป็นอ่านหนังสือ ในที่สุดลูกก็จะเหนื่อยและหยุดร้องไปเอง ถึงเวลานั้นแล้วค่อยจับเข่าคุยกันดีๆ

จับแยก ลองอุ้มเจ้าตัวดีที่กำลังดิ้นพล่านไปไว้อีกห้อง (ถ้าคุณแน่ใจว่าลูกจะไม่อาละวาดทำลายข้าวของ หรือตัวเอง) และคุณก็ออกมาอยู่อีกห้อง วิธีนี้จะช่วยทำให้ทั้งคุณและลูกสงบสติอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเสียงร้องของลูกเงียบไปแล้ว คุณค่อยเข้าไปหาลูก

เบี่ยงเบนความสนใจ วิธีนี้ใช้ได้ดี ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนใจเย็น และมั่นใจว่ารับมือได้ดีหากโดนเจ้าตัวดีอาละวาดกลับมาค่ะ การเบี่ยงเบนความสนใจทำได้โดย เมื่อลูกเริ่มอาละวาด คุณก็ผละไปเล่นของเล่นชิ้นใหม่ หรือหาน้ำดื่มมาให้ลูก อุ้มเจ้าตัวดีไปเดินเล่นชี้ให้ชมนกชมไม้ ฯลฯ ทำสิ่งใดก็ได้ที่จะทำให้ลูกลืมเรื่องที่ทำให้เขาหัวเสียเพื่อหันเหความสนใจ