โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

เรื่องป่วยของลูก ที่พ่อต้องรู้!

คุณพ่อมือใหม่หลายท่านคงเคยเจอสถานการณ์ลูกร้องไห้ หรือมีอาการอะไรที่ผิดแปลกไปคุณแม่จะรี่เข้าไปปฏิบัติการอย่างคล่องแคล่ว ขณะที่คุณพ่อนั้นก็ทำอะไรไม่ถูก ใจหนึ่งก็อยากช่วย แต่ถ้าเข้าไปก็ดูเหมือนจะเป็นการช่วยยุ่งเสียมากกว่า จนบางครั้งก็อดน้อยใจกับความรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกไม่ได้ ดังนั้นเพื่อขจัดความรู้สึกนี้ให้หมดไป เรามีเรื่องสุขภาพของลูกที่คุณพ่อควรรู้มาฝากกัน

Lesson#1 ร้องไห้ไม่หยุดแบบนี้ เขาเรียกว่าโคลิค

เรื่องการร้องโคลิคคือการร้องไห้เสียงดังของทารก พบโดยทั่วไปจะร้องเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ซึ่งมักจะเป็นเวลาเย็น เจ้าตัวเล็กจะส่งเสียงเช่นนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน ดังนั้นอีกชื่อเรียกหนึ่งของการร้องโคลิคก็คือร้อง 3 เดือนนั่นเอง ทุกวันนี้ทางการแพทย์เองก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการร้องโคลิคได้แน่ชัด อย่างไรก็ตามการร้องโคลิคของลูกไม่ใช่เรื่องที่ต้องเป็นกังวล ตราบใดที่ลูกยังดูดนมได้ปกติ และน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์
คุณพ่อทั้งหลายสามารถรับมือกับอาการโคลิคของลูกได้ไม่ยาก เพียงแค่อุ้มหนูน้อยขึ้นมาไว้ในวงแขน พาลูกอุ้มเดินไปรอบๆ พร้อมกับส่งเสียงปลอบและกล่อม สัมผัสที่นุ่มนวลและการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องจะช่วยให้ลูกสงบนิ่งขึ้นได้ การนำลูกใส่เปลหรือรถเข็นก็อาจได้ผลเช่นกัน หากทารกของ
คุณมีอาการรร้องโคลิค ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ควรร่วมมือกันค่ะ โดยอาจผลัดกันอุ้มลูกคนละ 30 นาที เพื่อลดความเครียดและความกดดันที่อาจเกิดขึ้นจากเสียงร้องของลูก

Lesson#2 พ่อจ๋าอย่าเขย่าหนู
ด้วยความเป็นผู้ชายมาดแมน แรงเยอะ การอุ้มหรือเล่นกับลูกน้อยแต่ละครั้งคุณพ่อก็อาจจะลืมยั้งมือกล่อมลูกแรงเกินไป จนอาจนำมาซึ่งอาการ Shaken Baby Syndrome (SBS) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการหรือภาวะที่มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบ โดยเฉพาะวัย 3-8 เดือนมากกว่าเด็กโต สาเหตุของอาการนี้เกิดจากการที่คุณเขย่าลูกแรงเกินไป จนทำให้เนื้อสมองกระแทกกับผนังด้านในของกะโหลกศีรษะ ซึ่งปกติสมองของเด็กเล็กจะมีน้ำในช่องสมองมากกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ประกอบกับเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เนื้อสมองจึงมีโอกาสแกว่งจนเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อสมองและเส้นเลือด ทำให้เกิดการบาดเจ็บภายในสมองที่พ่อแม่มองไม่เห็นได้
คุณเขย่าไม่ควรลูกด้วยความรุนแรงและกระชากกลับอย่างรวดเร็ว เล่นโยนเจ้าตัวเล็กขึ้นไปบนอากาศแล้วรอรับ หรือหนูน้อยประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรง สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ลูกน้อยประสบกับภาวะ SBS ได้ อาการของภาวะนี้ที่สังเกตได้คือ เช่น มีเลือดออกที่ตา เลือดออกที่สมองหรือเนื้อหุ้มสมอง หรือมีกะโหลกแตกหัก อย่างไรก็ตามเมื่อรู้แล้วก็ทะนุถนอมลูกน้อยในอ้อมแขนสักหน่อยดีกว่า

Lesson#3 หนูอิ่มนมแล้ว อุ้มให้หนูเรอด้วย
หลังจากหนูน้อยอิ่มอุ่นจากน้ำนมในอกแม่แล้ว คุณพ่ออาจรับหน้าที่ต่อด้วยการอุ้มลูกพาดบ่าและตบหลังเบาๆ หรือจะจับลูกนั่งตัวตรงแต่เอนไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้มือซ้ายของคุณจับคางลูกไว้ ค่อยๆ ลูบหลังเบาๆ ซักพัก ลูกจะเรอออกมา ระวังอย่าตบหลังหรือลูบหลังแรงเกินไป
แต่ระหว่างที่คุณจับลูกเรอนั้นเจ้าตัวเล็กอาจมีอาการแหวะนมออกมาด้วย คุณพ่อจึงควรเตรียมผ้าอ้อมไว้ใกล้มือเพื่อเช็ดคราบแหวะของลูก หรือจะนำมารองที่บ่าเพื่อไม่ให้เสื้อของคุณเลอะแหวะก็ได้ คุณพ่ออาจกังวลว่านมที่ลูกกินเข้าไปจะออกมาหมด ไม่ต้องห่วงเพราะแต่ละครั้งที่ลูกแหวะออกมานั้น ปริมาณไม่ถึงหนึ่งช้อนโต๊ะ ทั้งนี้หากลูกแหวะทุกครั้งหลังให้นม แต่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ก็ไม่ใช่เรื่องน่าห่วงแต่อย่างใด

Lesson#4 สะดือของหนูบอบบาง คุณพ่อระวังด้วยนะ
ช่วงแรกที่สายสะดือเพิ่งถูกตัดจะมีลักษณะเป็นแท่งสีดำแฉะ มีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ประมาณ 2 วัน สายสะดือจะเริ่มแห้ง และอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์หรือนานที่สุด 1 เดือน สายสะดือก็จะหลุดไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งระหว่างนี้คุณพ่อต้องระมัดระวังสะดือของคุณหนูๆ มากเป็นพิเศษ
คุณพ่อควรระวังไม่ให้สายสะดือของลูกเปียกน้ำ หลังอาบน้ำเช้าเย็น ควรเช็ดทำความสะอาดรอบๆ สะดือ ด้วยสำลีก้านและน้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้จากโรงพยาบาล ควรทำอย่างเบามือ ระวังอย่าเช็ดไปตรงกลางสะดือ และห้ามโรยแป้งที่สะดือของลูกด้วย เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบได้
เสื้อผ้าของลูกช่วงนี้ไม่ควรเป็นขอบยางยืดที่ทับสะดือของลูก รวมทั้งหากเห็นว่าสายสะดือของลูกใกล้จะหลุดแล้วก็อย่าเผลอไปดึง ลูกร้องไห้จ้าขึ้นมาจะหาว่าไม่เตือน


mothersdigest.in.th