โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อลูกน้อยกล้ามเนื้ออ่อนแรง

คุณพ่อคุณแม่มักมีอาการกังวลมาก เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมการนั่ง ยีน คลาน หรือเดินช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจะทำอย่างไร ก่อนอื่นพ่อแม่ควรพาเด็กที่มีอาการดังกล่าวมาพบแพทย์ โดยเฉพาะกุมารแพทย์ที่ดูแลเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กหรือกุมารแพทย์ด้านประสาทวิทยา เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและสืบค้นถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่มีแรง


สาเหตุที่เด็กมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามตำแหน่งของพยาธิสภาพ ดังนี้

1. โรคที่มีพยาธิสภาพในสมอง หรือความพิการแต่กำเนิดของสมอง
2. โรคที่เกิดในระดับไขสันหลัง
3. โรคที่เกิดในส่วนหน้าของไขสันหลัง
4. โรคที่เกิดในระดับเส้นประสาท
5. ความผิดปกติของรอยต่อระหว่างกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
6. โรคกล้ามเนื้อ
7. กรณีอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น

อ่านมาถึงตอนนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะยิ่งกังวลมากขึ้นและเริ่มสงสัยว่าจะรักษาได้หรือไม่ ก่อนที่จะทราบว่ารักษาได้หรือไม่ ขอขยายเรื่องสาเหตุให้ละเอียดขึ้นเล็กน้อยในบางสาเหตุ เพราะสามารถป้องกันได้ เช่น โรคที่เกิดกับสมอง แล้วทำให้กล้ามเนื้อของเด็กอ่อนแรงนั้น ส่วนใหญ่อาจจะมีต้นเหตุตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา หรือเกิดขึ้นระหว่างการคลอดหรือหลังคลอด เช่น

ความพิการแต่กำเนิดของสมอง
ภาวะสมองขาดออกซิเจนจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น
- ก่อนคลอด : มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือภาวะรกเกาะต่ำทำให้เลือดออกมากทางช่องคลอด
- ระหว่างคลอด : ศีรษะเด็กไม่ได้สัดส่วนกับเชิงกรานแม่ ทำให้คลอดทางช่องคลอดไม่ได้
- หลังคลอด : เด็กไม่หายใจ
ภยันตรายจากการคลอดทำให้มีเลือดออกในสมอง

ป้องกันลูกน้อยจากภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้คือ การดูแลตัวเองอย่างดีตลอด 10 เดือนของการตั้งครรภ์ กินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูสภาพร่างกายของเด็กในครรภ์ แพทย์สามารถวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของศีรษะเด็กได้ ก็จะบอกความพิการคร่าวๆ ได้ ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอดต้องรีบไปพบแพทย์มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหากับเด็กต่อไป

อีกโรคหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรง คือ เกิดความผิดปกติในส่วนหน้าของไขสันหลัง โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ จะทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลังส่วนหน้า (anterior horn cell) มักจะเป็นในระดับล่างๆ ของไขสันหลังทำให้เด็กเดินไม่ได้ วิธีป้องกันคือ การรับวัคซีนโปลิโอในเด็ก 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน และกระตุ้นอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 5 ปีตามลำดับ เพียงเท่านี้ท่านก็ป้องกันโรคนี้ได้แล้ว

นอกจากนี้โรคของเส้นประสาทที่จะทำให้เด็กไม่มีแรงและป้องกันได้อีก คือ โรคเหน็บชา สาเหตุจากการขาดไวตามิน B1 ซึ่งจะมีมากในเนื้อหมู (เนื้อแดง) ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น การเลี้ยงเด็กจึงมีความจำเป็นต้องรับประทานอาหารทุกหมู่ ไม่ควรเลือกอาหารกินอาหาร สำหรับคนที่เป็นมังสวิรัติจำเป็นต้องรับประทานไวตามินเสริมเป็นประจำ นอกจากนี้พิษจากตะกั่วหรือพิษจากแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงควรหลีกเลี่ยง ส่วนความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงนั้น ปัจจุบันก็สามารถตรวจได้โดยการเจาะถุงน้ำคร่ำตรวจ หากพบความผิดปกติแพทย์จะทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลงได้

คุณพ่อคุณแม่อ่านมาถึงตอนนี้คงโล่งใจแล้ว เพราะโรคร้ายๆ ที่เล่าสู่กันฟังนั้น ส่วนใหญ่ป้องกันได้และต้องไม่ประมาท เด็กเล็กๆ มีสิ่งเร้าต่างๆ เข้ามากระทบต่อสมองและระบบประสาทมากมายและเป็นภยันตรายได้ง่าย จึงต้องหมั่นดูแลประคับประคองจนลูกน้อยของเราเติบใหญ่ต่อไป