โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

รับมือภาวะเด็กคลอดก่อนกำหนด

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์และคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ เราจะเรียกการคลอดนี้ว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะน้ำหนักน้อย ตัวเล็ก และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากแพทย์ด้วยเครื่องมือต่างๆ ทั้งนี้ เป็นเพราะระบบร่างกายของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นั่นเอง ในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์มีภาวะคลอดก่อนกำหนด และนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพของลูกน้อยหลังคลอด

คลอดก่อนกำหนด กับระบบของร่างกาย

ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น ระบบต่างๆ ของร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แพทย์ต้องให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่าร่างกายของลูกน้อยเต็มไปด้วยสายระโยงระยางดูน่ากลัว แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อช่วยชีวิตของเจ้าตัวเล็กให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้นั่นเอง โดยทั่วไปสิ่งที่แพทย์จะต้องตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือทารกที่คลอดก่อนเกณฑ์ มีหลายประการ แต่จะยกตัวอย่างบางระบบให้พอเข้าใจคือ

การหายใจและปอด - ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อคลอดออกมาแล้วส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการหายใจ ถ้าไม่มีข้อห้ามอื่นๆ สูติแพทย์จะแนะนำให้ฉีดยากระตุ้นการทำงานของปอด เพื่อภายหลังการคลอดปอดของลูกจะได้ทำงานได้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่ามีท่อช่วยหายใจที่ใส่ทางปากและอุปกรณ์ช่วยหายใจผ่านทางจมูก นอกจากนี้ยังมีการให้สารลดแรงตึงผิวในทารกบางราย นั่นก็เพื่อช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง

หัวใจ - ระหว่างที่อยู่ในครรภ์มารดาเลือดจากมารดาจะผ่านเส้นเลือดที่สายสะดือไหลไปที่หัวใจลูก และผ่านเส้นเลือดที่หัวใจ ( Ductus arteriosus ) ไปสู่เส้นเลือดแดงใหญ่และไปเลี้ยงทั่วร่างกายเลือดจะไม่ไปที่ปอดเนื่องจากความดันเลือดในปอดสูง หลังจากที่ลูกคลอด ความดันในปอดจะลดลงทำให้เลือดไปปอดมากขึ้น แต่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีภาวะปอดที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ความดันเลือดในปอดยังคงสูงทำให้เลือดไปที่ปอดน้อยลง และทำให้เส้นเลือดที่หัวใจเส้นนี้ยังเปิดอยู่ซึ่งถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาได้ทันทีอาจทำให้มีผลแทรกซ้อนต่อระบบอื่นๆ และอันตรายต่อชีวิตได้

ระบบประสาทสมอง - เป็นอวัยวะสำคัญมากอีกอวัยวะหนึ่ง เนื่องจากถ้าสมองขาดออกซิเจนก็จะมีผลกระทบต่อทุกๆ อวัยวะตามมา และในทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในช่องสมองได้ง่ายจึงต้องมีการตรวจ ultrasound ที่ศีรษะเป็นระยะ

ระบบทางเดินอาหาร - เด็กที่คลอดก่อนกำหนด การดูด การกลืนนม และระบบการย่อยจะยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น การให้นมก็ต้องระวัง หากสามารถให้นมแม่ได้ก็จะดีที่สุดซึ่งถ้ามีปัญหาการดูดการกลืนก็สามารถดูดนมแม่ได้ แต่ถ้าการดูด การกลืนการหายใจไม่สัมพันธ์กันก็ต้องให้ทางสายยางทีละน้อยๆ หรือหากไม่สามารถให้นมแม่ได้ก็ต้องใช้นมผงสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะ

สายตา - เด็กที่คลอดก่อนกำหนดเส้นเลือดในจอประสาทตายังพัฒนาไม่เต็มที่ ร่างกายก็จะสร้างเส้นเลือดเพิ่มขึ้นมาใหม่ ทำให้เส้นเลือดหนาขึ้นแล้วดึงจอประสาทตาจนอาจทำให้ตาบอดได้ ทารกคลอดก่อนกำหนดจึงต้องตรวจจอประสาทตาเป็นระยะเป็นระยะๆ ด้วย

อาหารการกิน กับการคลอดก่อนกำหนด

ถ้าทารกคลอดออกมาอายุครรภ์น้อย ยังดูดกลืนไม่ได้หรือการดูดการกลืนและการหายใจยังไม่สัมพันธ์กัน ก็ต้องใส่สายให้อาหารผ่านทางปากเข้าไปที่กระเพาะอาหารโดยตรง นอกจากนี้ยังมีสายให้น้ำเกลือและสารอาหารต่างๆ กรณีที่ทารกไม่มีปัญหาเรื่องการย่อย การดูด การกลืนและการหายใจที่ไม่สัมพันธ์กันก็จะให้ทารกดูดนมแม่ได้และค่อยๆ เพิ่มนมทีละน้อย หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมได้ก็จะใช้นมผงสำหรับเด็กคลอดก่อกำหนดแทนนมแม่ก่อน โดยประมาณ ภายใน 2 สัปดาห์หากไม่มีปัญหาอื่นๆ และโดยเฉพาะลำไส้ติดเชื้อ หรือรุนแรงจนถึงลำไส้เน่าทารกก็จะสามารถกินนมได้เต็มที่

ดูแลอย่างไร เมื่อลูกได้กลับบ้าน

ร่างกายของทารกคลอดก่อนกำหนดนั้นบอบบางและต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษค่ะ อย่างไรก็ตาม หากคุณหมออนุญาติให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกกลับบ้านได้ นั่นก็หมายความว่าเจ้าตัวน้อยของคุณปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว หากแพทย์ไม่ได้แจ้งข้อยกเว้นอะไร การดูแลก็สามารถทำได้เหมือนทารกปกติ แต่มีบางสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็น
เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป การดูแลสุขอนามัยของลูก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบๆ กายให้สะอาดอยู่เสมอก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกอยู่ใกล้กับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไอ จาม มีน้ำมูก เพราะหากลูกได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายก็จะป่วยได้ง่าย และอาจเป็นหนักกว่าเด็กปกติ โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปี

พัฒนาการ เด็กคลอดก่อนกำหนด

การกระตุ้นพัฒนาการให้เจ้าตัวน้อยที่คลอดก่อนกำหนดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะเด็กๆ ที่คลอดก่อนเกณฑ์นี้ มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรกระตุ้นพัฒนาการลูกให้มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยการพูดคุย เล่นกับลูกบ่อยๆ กอด นวดสัมผัส เปิดเพลงให้ลูกฟัง กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีแรกของชีวิตคุณอาจต้องใช้เวลากับการกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้มากกว่าเด็กทั่วไป เพราะเป็นเวลาที่สมองของลูกกำลังเจริญเติบโต หากได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมก็จะทำให้เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการเทียบเท่ากับเด็กที่คลอดปกติได้

Kangaroo Care อบอุ่นในกระเป๋าจิงโจ้

Kangaroo Care เป็นการอุ้มที่ให้ผิวของผู้อุ้มและทารกจะสัมผัสกันโดยตรง ลักษณะเดียวกับที่ลูกจิ้งโจ้อบอุ่นอยู่ในกระเป๋าของแม่จิ้งโจ้นั่นเอง วิธีการก็แสนง่ายเพียงแค่ปรับอุณหภูมิห้องให้อบอุ่นพอดี ผู้อุ้มหาที่นั่งเอนหลังสบายๆ แล้ว ปลดกระดุมเสื้อเพื่อให้ลูกได้อบอุ่นอยู่แนบอก ให้ผู้ช่วยอีกคนอุ้มลูกน้อยที่ใส่เพียงผ้าอ้อมมาวางไว้ที่หน้าอกในลักษณะคล้ายๆ กับการให้นม ซึ่งหูของหนูน้อยจะอยู่ใกล้กับหัวใจของผู้อุ้มพอดี วิธีการนี้เชื่อว่าช่วยทำให้ระดับการเต้นของหัวใจ การหายใจ และอุณหภูมิร่างกายของทารกคงที่มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ ต่อหนูน้อยที่คลอดก่อนกำหนด