โฆษณา

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2556

น้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยของทารกวัยแรกเกิด – 1 ขวบ

พ่อแม่หลายคนเวลาเจอเด็กทารกคนอื่นที่รูปร่างอวบอ้วน จ้ำม้ำน่าหยิก ก็อาจจะกังวลว่า ลูกของเรานั้นมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรือเปล่า หรือบางคนก็กังวลว่าลูกของเราจะกินนมน้อยไปไหมทำให้น้ำหนักตัวน้อย วันนี้เราจะแนะนำเกณฑ์น้ำหนักมาตราฐานของเด็กในวัยแรกเกิดจนอายุ 1 ปีเพื่อเป็นแนวทางให้กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ


เด็กวัยแรกเกิดควรมีน้ำหนักตัวประมาณเท่าไร?
โดยปกติเด็กวัยแรกเกิดที่คลอดตามปกติ (ไม่ได้คลอดก่อนกำหนด) จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 3,000 กรัม (3 กิโลกรัม) แต่ก็มีไม่น้อยที่เด็กเกิดมาแล้วมีน้ำหนักตัวถึง 4,000 กรัม (ทีมงานเราท่านหนึ่งเกิดมาน้ำหนักตัวตั้ง 4,200 กรัม แหนะ) ดังนั้นหากลูกของเรามีน้ำหนักตัวระหว่าง 3,000 – 4,000 กรัมก็ถือว่าเป็นปกติสำหรับเด็กแล้วค่ะ ไม่ต้องกังวลไป แต่หากลูกของเราเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยมากน้ำหนักตัวจะไม่ถึง 3,000 กรัม แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ เมื่อเขาเติบโตขึ้นน้ำหนักตัวของเขาก็จะเพิ่มไวกว่าเด็กทั่วไปเช่นกันค่ะ

เมื่อทารกแรกเกิดเข้าสู่วัย 3 เดือน
น้ำหนักตัวหลักจากแรกเกิดนั้น โดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 700 – 800 กรัมต่อเดือน ดังนั้นเมื่อลูกของเรามีอายุครบ 3 เดือน น้ำหนักตัวของลูกก็ควรจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,100 – 2,400 กรัม นับจากตอนแรกเกิด แต่ทั้งนี้เด็กบางคนก็อาจจะมีเกณฑ์เพิ่มมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ได้ค่ะ

เมื่อทารกเข้าสู่วัย 4 – 6 เดือน
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยในแต่ละเดือนในช่วงนี้จะอยู่ที่ 500 – 600 กรัมต่อเดือน ซึ่งจะน้อยกว่าในช่วง 1 – 3 เดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะค่ะ แต่หากเด็กบางคนที่น้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าเกณฑ์นี้ ก็ต้องดูว่าลูกกินอะไรไปเป็นพิเศษหรือเปล่านะค่ะ

เมื่อทารกเข้าสู้วัย 7 – 9 เดือน
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 400 กรัมต่อเดือน อาจมีมากหรือน้อยกว่านี้นิดหน่อยค่ะ

เมื่อทารกเข้าสู่วัย 9 – 12 เดือน
น้ำหนักตัวที่เพิ่มในแต่ละเดือนจะลดลงอีก เหลือเพียงเดือนละประมาณ 300 กรัมต่อเดือนค่ะ

เมื่อทารกเข้าสู่วัย 1 ขวบ
ช่วงนี้น้ำหนักตัวจะเพิ่มเพียงเดือนละ 200 กรัม ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากหรือน้อยในแต่ละเดือนด้วย

ซึ่งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวนั้นบางครั้งอาจจะเพิ่มหรือลดเพราะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้น้ำหนักตัวของลูกเปลี่ยนแปลง เช่น

ฟันกำลังจะขึ้น
ไม่สบายหรือมีอาการเจ็บป่วย
เพิ่งกินนมหรืออาหารเสร็จ
เพิ่งถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะไป
ถอดหรือใส่เสื้อผ้าหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป
แล้วเราควรจะชั่งน้ำหนักลูกบ่อยแค่ไหน?
หากที่บ้านมีเครื่องชั่งที่เหมาะสมอยู่แล้วก็สามารถชั่งน้ำหนักได้ทุกวันค่ะ แต่หากไม่มีก็ชั่งตอนที่เราพาลูกไปพบคุณหมอตามนัดปกติก็ได้ หากน้ำหนักตัวของลูกต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อย แต่เขายังคงกินนมได้ตามปกติ ร่าเริง นอนหลับได้ตามปกติแม้น้ำหนักตัวจะเพิ่มน้อยกว่าเกณฑ์เล็กน้อยก็ยังไม่ต้องกังวลมากเกินไปนะค่ะ แต่หากต่ำกว่าเกณฑ์มากๆ ก็อาจจะขอคำแนะนำจากคุณหมอตอนที่เราพาลูกไปฉีดวัคซีนก็ได้ค่ะ

babytrick.com

4 ข้อคิดเลือกซื้อเสื้อผ้าเด็กให้ลูกวัย 1-3 ขวบ

สมัยนี้ เสื้อผ้าเด็ก แฟชั่นสำหรับเด็กในช่วงอายุ 1-3 ขวบปีนั้นมีมากมาย ไม่ว่าผู้ใหญ่จะมีชุดหรู สวยงามแค่ไหน ตอนนี้แฟชั่นเหล่านั้นก็ถูกออกแบบมาให้สำหรับเจ้าตัวเล็กของเราด้วยเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เวลาคุณพ่อคุณแม่ที่เพิ่งจะมีลูกคนแรกนั้นเวลาไปเดินตามห้างสรรพสินค้าจะเห็นแผนกเสื้อผ้าเด็กนั้น มีเสื้อผ้าที่ออกแบบแฟชั่นหลากหลายและดูสวย หล่อ เท่ห์ ไม่แพ้แฟชั่นของผู้ใหญ่เลยทีเดียว แต่ก่อนที่เราจะเลือกซื้อเสื้อผ้าให้เด็กเล็ก โดยเฉพาะเมื่อลูกของเรานั้นอยู่ในช่วงปฐมวัยคือ 1-3 ขวบปีแรกด้วยนั้น เราควรคำนึงถึง 3 ประเด็นหลักก่อนที่จะควักเงินออกจากกระเป๋านะค่ะ ซึ่งหลายครอบครัวมักจะลืมประเด็นเหล่านี้เสมอ


1. เลือกเสื้อผ้าเด็กที่สามารถใส่ได้หลากหลายโอกาส
เสื้อผ้าเด็กบางชุดนั้น ถูกออกแบบมาด้วยแฟชั่นที่เหมาะกับการพาออกงาน เช่น เสื้อสูท ชุดราตรี ชุดนางฟ้า ฯลฯ ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ที่จะซื้อชุดแนวนี้ให้ลูก ต้องจำให้ขึ้นใจว่า เด็กในวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมาก มีการยืด ขยาย ร่างกายได้รวดเร็ว ดังนั้นหากมั่นใจว่าเสื้อผ้าที่ซื้อไปนั้น เราสามารถให้ลูกใส่ได้ทุกโอกาส ทั้งใส่ลำลองอยู่บ้าน หรือออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านในวันธรรมดา หรือจะออกไปงานกับพ่อแม่ก็ได้เช่นกัน แบบนี้ก็จะคุ้มค่ากว่าที่จะซื้อชุดที่ดูหรูหรา แต่ใส่เดินเล่นนอกบ้านแล้วดูแปลกๆ หรือถ้าใครจะให้ลูกใส่ชุดสูท ทักสิโด หรือชุดนางฟ้าไปเดินเล่นสนามหน้าบ้านทุกวัน หรือสัปดาห์ละครั้งได้ อันนี้ก็โอเคค่ะ ไม่ว่ากัน แต่หลายครอบครัวไม่เป็นอย่างนั้น เพราะบางครั้งจะให้ลูกใส่เสื้อผ้าเด็กชุดหล่อๆ สวยๆ อยู่บ้านเฉยๆ ก็ไม่กล้า สุดท้ายลูกโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ชุดหล่อชุดสวยที่เคยซื้อไว้ ลูกใส่ได้แค่ไม่กี่ครั้งก็ต้องยกให้ลูกคนอื่น

ในทางกลับกัน หากคุณพ่อคุณแม่ที่เลือกเสื้อผ้าแนวกลางๆ สามารถนำมาสับเปลี่ยนกับชุดอื่นๆ ได้ เพื่อเพิ่มความหลากหลายของเสื้อผ้า แบบนี้ก็จะทำให้คุ้มค่าและสามารถจับเจ้าตัวเล็กมาแต่งตัวได้หลายแนว หล่อ เท่ห์ ได้ทุกวัน คุ้มค่ากับค่าเสื้อผ้าแน่นอนค่ะ

2. เลือกเสื้อผ้าเด็กทำจาก ผ้าฝ้าย (Cotton) เป็นผ้าหลักของเสื้อผ้าเด็ก
เมืองไทยเป็นเมืองร้อน เสื้อผ้าเด็กส่วนใหญ่จะทำมาจากผ้าฝ้าย (Cotton) อยู่แล้ว แต่เสื้อผ้าเด็กบางชนิดก็ทำมาจากผ้าฝ้ายผสมบ้าง ผ้าอื่นที่ไม่ใช่ผ้าฝ้ายบ้าง เหตุที่แนะนำให้ใช้ผ้าฝ้ายนั้น เนื่องจากว่า เด็กในช่วงอายุ 1-3 ขวบนั้นเขามักจะไม่ชอบอยู่เฉย รักการเล่น ยิ่งวิ่งไปวิ่งมา เหงื่อเต็มตัว แถมยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ระมัดระวังเรื่องความสกปรกต่างๆ อาจจะทำให้เสื้อผ้าเด็กชุดเก่งของเขาเปื้อนเอาง่ายๆ ซึ่งผ้าฝ้ายเมื่อนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าเด็กแล้วจะมีคุณสมบัติในการระบายความร้อน และทนทานต่อการซัก (หนักๆ) ได้ดี ปัญหาเรื่องเสื้อหด เสื้อผ้าย้วยเสียทรงไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้าฝ้าย

การระบายความร้อนเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเสื้อผ้าเด็ก โดยเฉพาะในประเทศไทย อากาศกลางวันจะร้อนมาก และยิ่งมีฝนตกด้วย การตากผ้าวันฝนตกถือเป็นเรื่องกลุ้มใจของพ่อแม่เลยทีเดียว หากเสื้อผ้าไม่สามารถระบายความร้อนระบายเหงื่อได้ดี และยังแห้งช้า จะเกิดปัญหาผ้าเหม็นอับ หรือเสื้อผ้ามีกลิ่น ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพของลูกเลยค่ะ

3. อย่ายึดติดกับแบรนด์เนมในเสื้อผ้าเด็ก
แน่นอนว่าเสื้อผ้าที่มีแบรนด์เนม พ่อแม่หลายคนอาจจะเชื่อว่ามันน่าจะมีคุณภาพดีกว่า ทนทานกว่า โดยอาจจะคิดอ้างอิงจากเสื้อผ้าของผู้ใหญ่ที่เสื้อผ้าแบรนด์เนมมักจะมีคุณภาพความคงทนได้นานกว่าเสื้อผ้าตามตลาดนัดทั่วไป แต่เนื่องจากว่าเสื้อผ้าแบรนด์เนมนั้นโดยเฉพาะเสื้อผ้าเด็กจะมีราคาสูงมาก บางครั้งซื้อเสื้อเด็ก 1 ตัวของแบรนด์เนมในห้าง สามารถซื้อเสื้อผ้าเด็กตามร้านข้างนอกที่ใช้เนื้อผ้าดีๆ ได้ 2-3 ตัวเลยทีเดียว

เนื่องจากเด็กจะมีการขยายตัวเร็วกว่าผู้ใหญ่ การทุ่มทุนซื้อเสื้อผ้าเด็กที่เป็นแบรนด์เนมตัวนึงหลายร้อย หรือหลักพันบาทต่อชิ้นนั้น ดูจะเป็นการลงทุนที่ไม่ค่อยเหมาะเท่าไร เพราะใส่ได้ไม่กี่ครั้งก็โตจนใส่ไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นชุดแฟชั่นออกงานด้วยยิ่งนานๆ ใส่ที เผลอๆ ซื้อมาได้ใส่จริงไม่ถึง 10 ครั้งก็โตจนใส่เสื้อผ้าไม่ได้แล้ว

ดังนั้นควรจะให้ความสำคัญด้านเนื้อผ้าเป็นอันดับแรก ลำดับต่อมาคือลักษณะการตัดเย็บ และสุดท้ายคือแบบของเสื้อผ้า ส่วนจะมียี่ห้อดังหรือไม่นั้น อันนี้ก็แล้วแต่ความเหมาะสมกับฐานะเงินในกระเป๋าของคุณพ่อคุณแม่นะค่ะ

4. แต่งหล่อ แต่งสวย ให้ลูกตอนอยู่บ้านบ้างก็ได้
กรณีที่พ่อแม่หลายคนเก็บเสื้อผ้าเด็กชุดหล่อชุดเก่งให้ลูกไว้ แต่ลืมหรือไม่เคยคิดจะให้ลูกแต่งหล่อแต่งสวยเวลาอยู่บ้านเฉยๆ ก็อาจจะพลาดโอกาสดีๆ ไปนะค่ะ เพราะความจริงแล้วคุณสามารถให้เจ้าตัวเล็กดูหล่อ เท่ห์ สวย แม้จะเป็นวันธรรมดาที่นอนเล่นอยู่บ้านก็ได้ หากสังเกตดูในแต่ละปีนั้นโอกาสที่เราจะพาเจ้าตัวเล็กออกงานจริงๆ นั้นคงมีน้อยมาก

หากอยากได้ความคุ้มค่ากับเสื้อผ้าที่เสียไปแล้ว ก็ควรให้ลูกได้หล่อ ได้สวย แม้วันที่อยู่บ้านบ้างก็ไม่เป็นไร ลูกอาจจะซน เล่น ทำเสื้อผ้าเลอะบ้าง ก็อย่างเพิ่งดุหรือโกรธเขา คิดง่ายๆ ว่าเสื้อผ้าเด็กที่ซื้อมาจากร้านขายเสื้อผ้าเด็กแล้ว ถ้าเราไม่ให้เขาใส่ ก็คงไม่มีใครได้ใส่ (ยกเว้นจะเก็บส่งต่อเป็นมรกดให้น้อง) ไม่เหมือนเสื้อผ้าผู้ใหญ่ที่ถึงแม้เราจะไม่ใส่ในช่วงนี้ แต่ก็ยังมีโอกาสได้ใส่ออกงานสังคมมากกว่าลูกแน่นอน

ให้ลูกกินอาหารเสริมในช่วง 6 เดือนแรก ทำให้ลูกเป็นโรคภูมิแพ้

เคยได้ยินไหมค่ะว่า พอลูกอายุเท่า นั้นเท่านี้เดือน ต้องให้ลูกหัดกินข้าวสุกบดผสมกล้วย ข้าวตุ๋นใส่ตับ ฯลฯ สิ่งที่เคยได้ยินมาจากคนโบราณนั้นต้องถือว่า บางอย่างก็ควรนำไปปฏิบัติ แต่บางเรื่องก็อาจจะทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะการรีบให้ลูกได้ กินอาหารในช่วงอายุ 6 เดือนแรก เราอาจจะทำให้ลูกต้องแพ้อาหารบางชนิดไปจนโตโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว


จริงๆ ความเชื่อที่ให้ลูกได้กินอาหารอื่นๆ นอกจากนมแม่ในช่วง 4 เดือนนั้น เชื่อว่าหลายๆ ครอบครัวต้องเคยได้ยินมาก่อนแน่นอน แต่พ่อแม่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ในช่วงที่ลูกของเรามีอายุยังไม่ถึง 6 เดือนแรก ระบบการทำงานของไต และตับของลูก ซึ่งทำหน้าที่ในการกรองสารพิษต่างๆ ยังทำงานได้ไม่ดี หากลูกของเราได้รับอาหารที่มีการปนเปื้อนสารพิษ (จากยาฆ่าแมลง, สารเคมีต่างๆ ในผัก, สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อสัตว์ รวมถึง ฮอร์โมนต่างๆ ที่ผสมเข้าไปในอาหารสัตว์) ทำให้ร่างกายของลูกไม่สามารถขับสารพิษเหล่านั้นออกมาได้ ทำให้ร่างกายสะสมสารพิษและกลายเป็นโรคแพ้อาหารบางชนิดทันที

อาจจะมีบางคนแย้งว่าในสมัยโบราณก็เลี้ยงกันแบบนี้ ไม่เห็นจะมีใครเป็นอะไรเลย แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เด็กที่เกิดในยุคหลังๆ นี้ มักจะมีโรคแปลกๆ, โรคแพ้อาหาร, แพ้นั้นนี่โน้นเยอะมาก ก็เพราะว่าอาหารในปัจจุบัน ไม่ได้สะอาดเหมือนสมัยก่อน ซึ่งสมัยก่อนนั้นยังไม่มีการใช้สารพิษหรือสารเคมีมากมายในการเพาะเลี้ยงสัตว์และการเพาะปลูกพืชเหมือนในสมัยปัจจุบัน ทำให้ปริมาณสารพิษที่ตกค้างนั้นมีมากเกินที่ร่างกายของเด็กทารก ( ซึ่งระบบการกรองสารพิษในร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่) ก่อให้เกิดการแพ้อาหาร และเป็นโรคต่างๆ ตามมา

ในปัจจุบันในทางการแพทย์ได้ยืนยันแล้วว่า ทารกในวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนแรก ไม่มีความจำเป็นต้องกินหรือดื่มอะไรนอกจากการกินนมแม่เท่านั้น (แม้แต่น้ำเปล่าก็ไม่จำเป็น) ซึ่งสารอาหารในนมแม่นั้นมีมากพอ และยังมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ที่ส่งต่อจากแม่ผ่านไปยังลูกได้อีกด้วย ดังนั้นหากจะเลือกอาหาร ก็ควรจะเลือกอาหารที่คุณแม่จะกินในแต่ละมื้อมากกว่า

สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่สมัยใหม่ควรให้ความใส่ใจคือ น้ำดื่ม, อาหาร, ผักและผลไม้ ในยุคปัจจุบันนี้ มีสารพิษปนเปื้อนมาก การจะทานอาหารหรือดื่มอะไรก็ตาม ล้วนส่งผลโดยตรงต่อร่างกายทั้งสิ้น หากคุณแม่กำลังให้นมลูกอยู่ ด้วย ยิ่งต้องให้ความใส่ใจมากเป็นพิเศษ เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงและมีน้ำนมให้มากพอ ดังนั้นหากจะให้ลูกได้กินอาหารเสริมอื่นๆ ก็ควรจะรอให้ลูกมีอายุเกิน 6 เดือนไปก่อน

เล่นกับลูกให้บ่อยๆ ลูกจะฉลาดกว่าจริงเหรอ

การเล่นกับลูกตั้งแต่ลูกยังเป็นแค่ทารกแรก เกิดจนถึงอายุ 3 ขวบนั้น สามารถทำให้ลูกของเรามีพัฒนาการทางด้านสมอง ร่างกาย และจิตใจดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เล่นกับพ่อแม่ ซึ่งการเล่นกับลูกนั้น ไม่จำเป็นต้องมีของเล่นราคาแพงๆ ใดๆ เลย แค่การร้องเพลง การ เต้นระบำ การนอนซบ พูดคุย ดอมดม ฯลฯ กับลูกบ่อยๆ ลูกของเราก็จะโตขึ้นเป็นเด็กที่อารมย์ดี ฉลาดกว่า และมีพัฒนาการในทุกๆ ด้านที่ดีกว่าเด็กทั่วๆ ไปได้


เล่นกับลูกแล้วลูกฉลาดขึ้นได้อย่างไร
พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองของลูกก่อนนะค่ะ ในช่วงที่ลูกของเรายังเป็นทารกแรกเกิด – 3 ขวบนั้น ระบบต่างๆ ในร่างกายของลูกจะมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากกว่าเด็กที่มีอายุมากกว่า 3 ขวบขึ้นไป โดยเฉพาะสมอง ซึ่งจะสร้างเซลล์ประสาทได้มากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสมองของผู้ใหญ่ ซึ่งเซลล์ประสาทเหล่านี้จะเชื่อมต่อถึงกันอย่างแนบแน่นถาวร โดยจะมีผลต่อการควบคุมการเต้นของหัวใจ การหายใจ ปฏิกิริยาอัตโนมัติต่างๆ รวมถึงประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ซึ่งเซลล์ประสาทเหล่านี้จะมีการเชื่อมต่อกันได้ผ่านการเรียนรู้ การปฏิบัติซ้ำๆ และการกระตุ้นต่างๆ จากผู้เลี้ยงดู ดังนั้นหากในช่วงแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ ลูกของเราได้รับ การพัฒนาและเรียนรู้อย่างถูกต้องผ่านการทำซ้ำ หรือการเล่นที่ถูกต้อง (เน้นกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูก) จะทำให้เซลล์ประสาทมีการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

แล้วถ้าเราไม่ค่อยได้เล่นกับลูก จะมีผลกระทบอย่างไร
ยกตัวอย่างระหว่างการเลี้ยงเด็กที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ เมื่อเทียบกับเด็กที่พ่อแม่ไม่ค่อยพูดกับลูก ไม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เซลล์ประสาทในด้านการรับรู้ด้านภาษาของเด็ก 2 คนนี้ เมื่อโตขึ้นจะแตกต่างกัน เด็กที่เติบโตมาโดยที่พ่อแม่พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ จะสามารถใช้ทักษะทางด้านภาษาได้ดีกว่า หรืออีกกรณี เด็กที่เติบโตมาโดยมีคนเล่นด้วยอยู่เสมอ กับเด็กที่ไม่ค่อยได้เล่นกับใคร เมื่อเติบโตขึ้นมา เด็กที่เล่นกับคนอื่นอยู่เสมอๆ จะสามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่ายกว่า

เล่นกับลูกอย่างไรถึงจะดี
วิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาเซลล์ประสาทในสมองของลูก คือการให้ในสิ่งที่ลูกต้องการในแต่ละช่วงอายุ ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่จิตใจที่อ่อนโยนของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อบอุ่นและปลอดภัย การเล่นกับ ลูกที่ใส่ใจและเฝ้าสังเกตว่าลูกพร้อมที่จะเล่นหรือยัง (เพราะบางครั้งลูกก็เหนื่อยเกินไปที่จะเล่นแล้ว) โดยอาจจะสังเกตจากอาการตอบรับของลูก เช่น

การพูดอ้อแอ้ตอบกลับของลูก
การจ้องมองของลูกกลับมาที่ตัวเราหรือของเล่นนั้นๆ
การหัวเราะ, การยิ้ม ของลูก เวลาที่เราเล่นกับเขา (หากลูกรู้สึกสนุก รู้สึกชอบ ลูกจะยิ้ม จะหัวเราะ)
การหันมอง หันหน้ามองตาม สิ่งของที่เคลื่อนไหว (หากลูกไม่สนใจการเคลื่อนไหวของสิ่งของนั้นๆ แล้ว แสดงว่าลูกอาจจะเหนื่อย ควรให้ลูกได้นอนพัก)

มาเตรียมอุปกรณ์ในห้องนอนลูกดีกว่าค่ะ

การนอนหลับเป็นการพักผ่อนร่างกายที่ดีที่สุด ซึ่งเด็กทารกแรกเกิดนั้นจะ นอนหลับเฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาจจะตื่นขึ้นมาเพื่อกินนม เล่นนิดหน่อย และก็หลับ ดังนั้นช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับ (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของวัน) เราจึงควรเตรียมที่นอน เตียง และอุปกรณ์อื่นๆ ให้เหมาะสมกับลูก ของเรามากที่สุด วันนี้เรามีคำแนะนำการเลือกใช้ เลือกซื้อ หรือการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ มาฝากค่ะ

เตียงนอนของลูก

ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำแบบเจาะจงว่า เราจะต้องให้ลูกไปนอนบนเตียงของเขา (ซื้อเตียงให้ลูกเลยทันที) แต่ผู้รู้หลายๆ ท่านก็แนะนำว่า การให้ลูกนอนแยกจากเตียงของพ่อแม่มีข้อดีหลายๆ อย่าง เช่น
  1. ป้องกันการนอนทับของตัวพ่อแม่เอง
  2. การขยับตัวหรือพลิกตัวของพ่อแม่ (เวลานอนหลับบนเตียงเดียวกับลูก) อาจจะทำให้ลูกตื่นกลางดึก
  3. ต้องการฝึกให้ลูกชินกับที่เตียงของตัวเอง
หากพ่อแม่ท่านไหนคิดว่า อยากจะให้ลูกนอนแยกเตียงกับตัวพ่อแม่ ก็มีอุปกรณ์ให้เลือกมากมาย เช่น
ตะกร้าเด็กตะกร้าเด็กใช้ได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3-4 เดือน ข้อดีคือสามารถพาไปไหนมาไหนได้ง่าย แต่เมื่อลูกโตขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี เพราะว่าลูกจะตัวใหญ่เกินกว่าจะให้นอนในตระกร้าได้
เปลเหมาะสำหรับเด็กทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน ซึ่งเปลนี้อาจจะดัดแปลงจากอุปกรณ์หลากหลายได้ หลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็นภูมิปัญญาชาวบ้านแบบสมัยก่อนที่เอาผ้ามาดัดแปลงเป็นเปลไกวเด็ก แต่เมื่อ เด็กอายุมากขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนเปลอีกเช่นกัน
เตียงนอนสำหรับเด็กเตียงสำหรับเด็ก เตียงสำหรับเด็กมีทั้งแบบที่มีราวกั้นกันตกด้านข้างของเตียง (ราวกั้นถาวร) หรือแบบที่สามารถถอดราวกั้นออกได้ ซึ่งแต่ละแบบนั้นก็มีหลากหลายวัสดุแตกต่างกันไปอีก ซึ่งสามารถใช้ได้กับทารกแรกเกิด จนถึงอายุ 5-6 ขวบ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการลงทุนซื้อที่ค่อนข้างใช้ได้นานพอสมควร แต่ต้องเลือกวัสดุประกอบที่ดีหน่อย เช่น สีที่ใช้ทาอุปกรณ์ของเตียงต้องไม่มีสารตะกั่ว, มีพลาสติกหุ้มราวกั้นด้านข้างเตียง (เผื่อลูกเรากัดเวลา ที่ลูกเราคันเหงือก) เป็นต้น
เตียงนอนแบบผู้ใหญ่ดัดแปลงสำหรับเด็กเตียงผู้ใหญ่ที่ดัดแปลงสำหรับเด็ก เตียงแบบนี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดจนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเราสามารถนำเตียงผู้ใหญ่ (ขนาดนอน 1 คน) มาดัดแปลงให้เป็นเตียงของลูกได้ โดยติดตั้งราวกั้นกันตก ซึ่งตรงจุดนี้อาจจะ ต้องจ้างช่างเฟอร์นิเจอร์มาทำเพิ่ม เตียงแบบนี้จะคุ้มค่าที่สุดในระยะยาวเพราะเราสามารถถอดราวกั้นเตียงออกเมื่อลูกโต
ทั้งนี้ทั้งนั้น จะเลือกเตียงแบบใดก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์ของแต่ละครอบครัวด้วย เพราะบางครอบครัวอาจจะไม่มีพื้นที่พอจะให้ลูกนอนบนเตียงขนาดใหญ่ ดังนั้นก็ต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกันแต่ละครอบครัวอีกครั้ง นะค่ะ
ที่นอนของลูกที่นอนของลูก บางครอบครัวก็เลือกที่จะให้ลูกนอนบนเบาะ (ซึ่งโดยมากจะทำจากฟองน้ำ หรือวัสดุอื่นที่มีความอ่อนนิ่มมากๆ) ซึ่งจะมีความนุ่ม และอาจจะเกิดอันตรายหากลูกของเรายังเล็ก เพราะหากลูกของเรานอนดิ้น แล้วหน้าไปกดกับที่นอน ที่นอนจะบุ๋มและทำให้หน้าของลูกจมลงไป ทำให้หายใจไม่ออกและเสียชีวิตได้
เราควรจะเลือกที่นอนของลูกให้มีความแข็งสักหน่อย ซึ่งจะนิยมวัสดุอยู่ 2 แบบสำหรับที่นอนของลูก คือ โฟมและสปริง ซึ่งโฟมจะมีน้ำหนักเบากว่าและราคาถูกกว่าที่นอนแบบสปริงค่อนข้างมาก แต่ข้อเสียของที่นอน แบบโฟมคือมักจะเป็นที่นอนที่นิ่ม (ซึ่งก็อาจจะทำให้ลูกหายใจไม่ออก หากลูกเผลอนอนหน้าคว่ำลงไปบนที่นอน)
ส่วนที่นอนแบบสปริงนั้น หากเราเลือกแบบที่มีขดสปริง 150 เกลียวขึ้นไป ก็จะสามารถป้องกันอุบัติเหตุเวลาลูกเผลอนอนแล้วเอาหน้าคว่ำลงไปบนที่นอนได้ เพราะที่นอนสปริงที่มีขด 150 เกลียวขึ้นไปจะมีความแข็ง มากพอ และยังมีอายุการใช้งานได้นานกว่าที่นอนแบบโฟม (ซื้อครั้งเดียว ใช้ได้หลายปี) แต่สิ่งที่เราจะต้องคำนึงเพิ่มเติมด้วยคือ ที่อนนที่เราจะซื้อนั้นจะต้องทำความสะอาดได้ง่าย, ไม่อับ และหากสามารถใส่ (หรือมี) ผ้าหุ้ม กันปัสสาวะซึมเข้าที่ตัวที่นอนได้ก็จะดีมาก เพราะเวลาลูกนอน (ทั้งนอนเล่นและนอนหลับบนเตียง) ก็อาจจะปัสสาวะรดที่นอนได้

ผ้าปูที่นอน

กรณีที่เราเลือกให้ลูกนอนบนที่นอน ก็ควรจะหาผ้าปูที่นอนที่ทอจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ซึ่งจะมีคุณสมบัตินุ่มและไม่ระคายเคืองต่อผิวของลูก และยังทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย
ผ้ายาง
มีประโยชน์มาก เพราะสามารถกันน้ำได้ หลายครอบครัวจะนำผ้ายางมาปูบนผ้าปูที่นอนก่อน แล้วหาผ้าบางๆ มาปูทับผ้ายาง แล้วค่อยให้ลูกนอนอีกทีเพื่อป้องกันปัสสาวะหรือน้ำอื่นๆ ที่อาจจะเปื้อนลงที่นอน แต่ข้อเสีย ของผ้ายางคือ มันอาจจะทำให้ลูกร้อน เพราะว่าผ้ายางจะดูดซับความร้อนได้ดี
ดังนั้นหากกังวลกลัวว่าลูกจะร้อน ก็ใช้เป็นผ้ากำมะหยี่แบบซับน้ำทดแทนผ้ายางก็ได้เช่นกัน เพราะเนื้อกำมะหยี่จะนุ่ม มีรูระบายอากาศ ทำให้ไม่ร้อนและไม่อับ ลูกจะนอนหลับสบายตัวมากกว่านอนบนผ้ายาง (หากจะเลือก ใช้ผ้ากำมะหยี่แบบซับน้ำ ควรเลือกขนาดผ้าให้ใหญ่หน่อยเผื่อลูกนอนดิ้นนะค่ะ)
ผ้าห่ม
ผ้าห่มสำหรับเด็กแรกเกิดเนื่องจากว่าลูกของเรายังเล็ก ยิ่งถ้าเป็นทารกแรกเกิด การจะห่มผ้าให้ลูกนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าห่มแบบผู้ใหญ่ แต่ควรจะหาผ้าชนิดบาง เพราะหากเป็นผ้าที่หนาเวลาลูกนอนหลับอาจจะทำให้ผ้ามา ปิดหน้าลูกจนหายใจไม่ออก
นอกจากนั้นพ่อแม่ก็ควรที่จะเตรียมห้องนอน (หรือสถานที่ที่จะให้ลูกนอน) ให้เหมาะสมทั้งอุณหภูมิ และแสงสว่าง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับสบายก็คือ 25 องศาเซลเซียส และควรจะมีแสงสว่างเล็ก น้อย โดยอาจจะใช้ไฟสีส้ม หรือหลอดไฟขนาดเล็กที่มีกำลังไฟ (โวลต์ต่ำๆ) ไม่มาก เพื่อให้ลูกนอนหลับสบาย ซึ่งแสงสว่างนั้นแค่พอมองเห็นตอนกลางคืนนิดหน่อยสำหรับการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือให้นมลูกตอนดึกๆ ก็เพียง พอแล้วค่ะ

มาเตรียมอุปกรณ์สำหรับอาบน้ำให้ลูกดีกว่าค่ะ

การอาบน้ำให้ลูกถือเป็นความสุขของพ่อแม่ แต่ก็ต้องใช้ความระมัดระวังใน การอาบน้ำให้มาก ยิ่งลูกยังเป็นแค่ทารกแรกเกิด การจะอาบน้ำให้ลูกนั้นพ่อแม่หลายคนก็กลัว (เพราะลูกยังตัวเล็กมา คอก็ยังไม่แข็ง) ดังนั้นพ่อแม่ควรจะเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เวลาอาบน้ำให้ลูกจะได้หยิบจับใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน

อ่างอาบน้ำ

อ่างอาบน้ำสำหรับเด็กทารกอ่างอาบน้ำสำหรับเด็กนั้นมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งอ่างอาบน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น อ่างอาบน้ำขนาดเล็กจะเหมาะกับทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบ (บางแบบก็สามารถใช้ได้จนลูกอายุ 2-3 ปี) ซึ่งพ่อแม่ควรจะพิจารณาวัสดุที่แข็งแรง
อ่างอาบน้ำมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่มีขาตั้ง ซึ่งพ่อแม่จะสะดวกในการอุ้มลูกอาบน้ำ หรือหากที่บ้านมีอ่างอาบน้ำสำหรับผู้ใหญ่แล้วก็สามารถให้ลูกอาบน้ำในอ่างผู้ใหญ่ก็ได้ แต่แนะนำว่าลูกควรจะมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป หรือลูกเริ่มนั่งเองได้ โดยใช้น้ำไม่เยอะมาก ให้ลูกนั่งในอ่าง แล้วเรารองน้ำจากฝักบัวอาบน้ำให้ลูกอีกทีก็สะดวกเช่นกัน

10 ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

นมแม่ถือว่าเป็นอาหารที่มีคุณประโยชน์สูงสุดต่อตัวลูกของเรา และตัวของคุณแม่เอง การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของลูกเราได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารอาหาร ภูมิต้านทานโรค ความผูกพันระหว่างแม่และลูก ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีหลายข้อ วันนี้จะขอยกตัวอย่างข้อดีมาสัก 10 อย่างค่ะ


ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นมแม่เป็นสารอาหารที่มาจากธรรมชาติ ปลอดภัยต่อลูกของเราที่สุด
จะหานมอะไรที่ปลอดภัยและได้สารอาหารที่ร่างกายต้องการเทียบเท่านมแม่ไม่มีอีกแล้ว ต่อให้เทคโนโลยีของมนุษย์จะก้าวไกลไปแค่ไหน ก็ไม่อาจจะเลียนแบบนมสังเคราะห์ใดๆ หรือนมจากสัตว์อื่นๆ ที่ทั้งปลอดภัย และมีสารอาหารได้เสมอเหมือนนมแม่อีกแล้วในโลกนี้

เด็กที่เติบโตมาจากการกินนมแม่ แข็งแรงกว่าเด็กที่กินนมวัว
เพราะในน้ำนมแม่ทุกหยด กลั่นมาจากภายในร่างกายของแม่เอง ภูมิต้านทานต่างๆ ในตัวของแม่ จะถูกถ่ายทอดผ่านน้ำนม เมื่อลูกได้กินนมแม่ก็จะได้รับภูมิต้านทานต่างๆ ไปด้วย ซึ่งนมวัวหรือนมสังเคราะห์อื่นๆ จะไม่มี ภูมิต้านทาน

หมดปัญหาลูกท้องผูก
เพราะนมแม่นั้นย่อยง่าย ทำให้ลูกไม่ต้องทรมานกับอาการท้องผูก แต่หากลูกของเรากินนมวัวหรือนมประเภทอื่นจะพบปัญหาท้องผูกได้มากกว่า

หมดปัญหาเรื่องลูกอ้วนเกินไป
เคยเห็นเด็กทารกตัวอ้วนจ้ำหม้ำน่ารักใช่ไหมค่ะ แต่บ่อยครั้งเด็กแรกเกิดที่เราเห็นอ้วนจ้ำหม้ำน่ารักนั้นก็มีน้ำหนักตัวเกินมาตราฐาน สาเหตุมาจากการเลี้ยงลูกด้วยนมวัวหรือนมสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ นั้นเอง ในขณะที่การ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น ลูกของเราจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวเกินเลย น้ำหนักตัวของลูกจะเป็นไปตามมาตราฐานของเด็กในแต่ละวัยแบบธรรมชาติ

โอกาสเกิดผื่นผ้าอ้อมน้อยกว่า
ผื่นผ้าอ้อมเกิดจากความอับชื้น และเกิดปฏิกริยาของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งกรณีที่เราเลี้ยงลูกด้วยนมวัวนั้น ของเสียของลูกจะมีเชื้อแบคทีเรียมากกว่า เมื่อมารวมกับความอับชื้น (จากการใส่ผ้าอ้อม) ผิวของลูกจะเกิดอาการ ผื่นแดงๆ (จึงเรียกว่าผื่นผ้าอ้อม) ซึ่งหากเราเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ของเสียของลูกจะมีเชื้อแบคทีเรียน้อยกว่ามาก โอกาสที่ลูกจะต้องทรมานกับอาการผื่นผ้าอ้อมก็จะลดลงด้วย

สานสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก
การให้ลูกได้ดูดนมจากอกแม่เอง เป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย มีแต่แม่ที่เคยให้ลูกดูดนมจากอกตัวเองเท่านั้นถึงจะบรรยายความรู้สึก ความสุขใจ ที่เกิดขึ้นในตัวของแม่คนนั้นได้เอง นอกจากนั้นตลอดเวลาที่ลูกดูดนม จากอกแม่ ลูกก็จะมองหน้าแม่ของตัวเอง ซึ่งช่วงเวลาที่ให้นมลูกนั้น เป็นช่วงเวลาที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะแม่ลูกจะได้สบตา ได้พูดคุย ได้แสดงความรักต่อกัน ทำให้ลูกสามารถรับรู้ได้ว่าแม่ของเขารักเขามากแค่ไหน นอก จากนั้นการที่ลูกดูดนมจากอกของแม่บ่อยๆ จะทำให้ลูกจำกลิ่น เสียง หน้าตา และสัมผัสต่างๆ ของแม่ได้เร็วกว่าเด็กที่กินนมจากขวดนม

ร่างกายของแม่จะผอมเร็วกว่า
หลังจากคลอดลูก ร่างกายของคุณแม่แม้ว่าจะน้ำหนักลงไปบ้าง แต่ระบบภายใน รวมถึงมดลูกอาจจะยังไม่เข้าที่เท่าที่ควร การเลี้ยงลูกโดยให้ลูกดูดนมแม่จากอกนั้น จะช่วยกระตุ้นร่างกายของแม่ให้หลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่ง (ซึ่งจะออกมาเฉพาะตอนที่ให้ลูกดูดนมแม่เท่านั้น) โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะช่วยให้มดลูกหดตัวเข้าที่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นการที่ร่างกายต้องผลิตนมแม่จะช่วยเผาผลาญไขมันต่างๆ ตามหน้าท้องออกไปด้วย ทำให้รูปร่าง ของแม่ที่เพิ่งคลอดลูก กลับมาผอมเพรียวได้เร็วกว่าแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมวัว โดยเฉลี่ยแล้วการที่เลี้ยงลูกเอง ให้ลูกกินนมจากอกแม่เอง น้ำหนักตัวของแม่จะลดลงเฉลี่ยเดือนละ 1-2 กิโลกรัม ซึ่งหากเราให้ลูกกินนมแม่ตลอด 6 เดือนแรกหลังคลอด น้ำหนักตัวและรูปร่างของคุณแม่ก็จะเข้ารูปและเกือบจะกลับมาเป็นปกติ

เป็นอาหารที่สะดวกที่สุดสำหรับลูกตลอด 24 ชม.
นมแม่เป็นแหล่งเติมพลังของลูกน้อยของเราที่สามารถให้ลูกกินได้ตลอด 24 ชม. เมื่อไรที่ลูกหิว เราก็สามารถให้ลูกกินนมจากอกของเราได้ทันที ไม่ต้องพกขวด น้ำร้อน นมผง ฯลฯ ให้ยุ่งยาก สะดวกและรวดเร็วทันใจ ลูกที่สุดแล้วละค่ะ

เป็นนมอุ่นๆ พร้อมดื่มได้ตลอดจากอกแม่
คุณสมบัติที่พิเศษที่หานมอื่นๆ ในโลกนี้ไม่ได้อีกแล้วนั้นคือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น แม่ไม่ต้องกังวลว่านมแม่นั้นจะร้อนเกินไป หรือเย็นเกินไปสำหรับลูก เพราะนมแม่ที่ออกมาจากเต้านั้น จะมีอุณหภูมิที่พอเหมาะกับ ลูกของเราทันที หากเลี้ยงลูกด้วยนมวัว เราคงต้องตรวจสอบก่อนเสมอว่านมที่ผสมนั้นจะร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไปหรือไม่

ไม่ต้องเสียเงินค่านมแพงๆ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ
ค่านมผงชนิดต่างๆ นั้น ปัจจุบันราคาถีบตัวสูงมากขึ้น ไหนจะค่าขวดนม ค่าน้ำยาล้างขวดนม อุปกรณ์ล้างขวดนม ฯลฯ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะหมดไปหากเราเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ เพราะนมแม่กลั่นมาจากร่างกายของแม่เอง ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมใดๆ อีก

นมแม่จะมีมากหรือน้อย จะมีภูมิต้านทานมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอาหาร การพักผ่อน และอารมณ์ของแม่เป็นหลัก หากคุณแม่ดูแลร่างกายอย่างดี กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพอเพียง และบริหารอารมณ์ตัวเองให้ดี อยู่เสมอๆ ก็จะมีนมแม่มากพอให้ลูกของเรากินแน่นอนค่ะ จะเห็นว่านมแม่นั้นปลอดภัยกับลูกของเราที่สุดในโลกและยังมีข้อดีอีกตั้งหลายอย่าง แล้วอย่างนี้จะเลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ อีกเหรอค่ะ หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีกว่า ค่ะ

พูดคุยกับลูกเวลาลูกดูดนมทำให้ลูกรักเรามากขึ้นได้จริงเหรอ

เคยสังเกตไหมค่ะว่า เวลาลูกของเราดูดนม ไม่ว่าจะเป็นดูดนมจากอกของแม่เอง หรือดูดจากขวดนมก็ดี จะมีจังหวะที่ลูกหยุดดูดเอาดื้อๆ เสมอ ซึ่งพ่อแม่หลายคนก็กังวลว่าลูกจะไม่ดูดดนม หรือหยุดกินนม จึงต้องมีการเขย่าตัวลูกเบาๆ ทราบหรือไม่ว่าจังหวะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังเขย่าตัวลูกนั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณและลูกจะสร้างความผูกพันกันมากขึ้นได้อย่างรวดเร็ว


จังหวะการดูดนมของเด็กเป็นอย่างไร
โดยปกติตามธรรมชาติ เด็กที่ดูดนม (ไม่ว่าจากอกแม่หรือจากขวดนม) จะมีจังหวะการดูด (ในช่วงแรก) เป็นในลักษณะดังนี้

ดูด – ดูด – ดูด

หลังจากนั้น เมื่อลูกได้ดูดนมไปสักพักหนึ่งจะเริ่มปรับจังหวะการดูดเป็นลักษณะดังนี้

ดูด – ดูด – ดูด – หยุด (และซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ)

ช่วงจังหวะที่ลูกหยุดดูดนี้เอง พ่อแม่หลายคนกังวลว่าลูกจะหยุดดูดต่อ (กลัวลูกกินนมไม่อิ่ม) จึงทำการเขย่าตัวลูกเบาๆ หรือพูดคุยพร้อมกับมองไปที่หน้าของลูก และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกจะหยุดดูดนมไปชั่วขณะเพื่อรับรู้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำต่อพวกเขา นั้นคือ การฟังสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังพูด, มองใบหน้าของพ่อแม่ และหลังจากนั้นเด็กก็จะกลับเข้าสู่จังหวะการดูด 3 ครั้งและหยุด 1 ครั้งแบบเดิมอีก

ทำไมลูกจึงดูด – ดูด – ดูด – หยุด
นับเป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากมีการทดลองทางการแพทย์แล้วได้ผลลัพท์ที่น่าทึ่ง โดยทีมแพทย์ได้ทดลองจับเวลาระหว่างการให้นมลูก โดยปล่อยให้เด็กได้ดูดนมตามจังหวะปกติของเขา และเมื่อเด็กหยุดดูดนมก็ไม่ต้องเขย่าหรือพูดคุย กับอีกกลุ่มเมื่อเด็กหยุดดูดนมก็ให้เขย่าตัวเบาๆ พร้อมกับ ยิ้ม จ้องมอง และพูดคุยกับลูก

ผลการทดสอบที่ได้สรุปได้ดังนี้

ต่อให้เราไม่เขย่าตัวลูก (จังหวะที่ลูกหยุดดูด) ลูกก็จะกลับมาดูดนมได้เองตามจังหวะที่มั่นคง
ยิ่งเราพูดคุย จ้องมอง และเขย่าตัวลูก ลูกจะยืดจังหวะการหยุดนั้นออกไป เพราะเขากำลังรับรู้และพยายามสื่อสารกับสิ่งที่เขาได้รับรู้มา (นั้นคือการพูด การเขย่า จากพ่อแม่)
ปริมาณการกินนมของเด็กทั้ง 2 กลุ่ม เท่ากัน (จะเขย่าหรือไม่เขย่า ก็ไม่ได้กินนมมากขึ้นเท่าไรนัก)
การพูดคุยกับลูกขณะลูกกำลังดูดนมไปด้วย (โดยเฉพาะดูดนมแม่) จะทำให้ลูกไม่หลับคาอกแม่มากกว่าปล่อยให้ลูกดูดนมเงียบๆ
ลูกจะสามารถจดจำกลิ่นและเสียงของพ่อแม่ตัวเองได้ภายใน 4-7 วันนับจากวันแรกเกิด
ยิ่งคุณพูดคุยกับลูกมากเท่าไรตอนที่ลูกกำลังดูดนม เขาก็จะยิ่งจ้องมองคุณมากขึ้น และยาวนานขึ้น ลูกจะรับรู้และสัมผัสถึงความรัก ความผูกพันที่คุณมีให้กับเขามากขึ้น นั้นจึงทำให้เขาจดจำ และรับรู้ว่า เขามีคนที่คอย ดูแลและรักเขามากแค่ไหน จึงไม่แปลกที่ลูกจะติดคุณมากกว่า และจดจำพ่อแม่ได้เร็ว

นอกจากนั้นในผลการทดสอบทำให้ทราบว่า การพูดจากับลูก การเขย่าตัวลูกเบาๆ บ้าง ขณะที่เขากำลังดูดนมนั้น ตัวพ่อแม่เองก็ยังได้รับความรู้สึกอิ่มเอิบ สุขใจ ซึ่งจะหาความรู้สึกนี้จากไหนไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นเวลาที่ ให้ลูกดูดนมคราวหน้า อย่าลืมพูดคุยกับลูกให้มากๆ นะค่ะ

5 คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับนมแม่

เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ คนคงตัดสินใจอยากจะเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ แต่ก็ยังมีความเชื่ออีกหลายข้อที่เคยเชื่อ หรือเคยได้ยิน หรือเขาบอกว่า (เขาไหนก็ไม่รู้) เกี่ยวกับนมแม่ วันนี้มาทำความรู้จักกับนมแม่ให้มากยิ่งขึ้นกับคำถามยอดฮิต (ตลอดกาล) เกี่ยวกับนมแม่กันค่ะ

1. นมแม่จะมีปริมาณพอเลี้ยงลูกเหรอค่ะ

ตามธรรมชาติแล้ว นมแม่นั้นจะผลิตมากหรือน้อย ขึ้นอยู่ว่าได้รับการกระตุ้นจากลูก (การดูดนม) บ่อยแค่ไหน การที่ลูกดูดนมแต่ละครั้งจะเป็นกระตุ้นให้ร่างกายของแม่ผลิตน้ำนมให้มากขึ้นอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่มักจะเกิด ขึ้นจนกลายเป็นเรื่องเล่าขานว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีนมไม่พอให้ลูกกิน เกิดจากสาเหตุสำคัญคือช่วงหลังจากคลอดลูก ลูกไม่ได้ดูดนมจากอกแม่ทันทีต่างหาก
ตอนคลอดลูกหากเราไม่ได้แจ้งพยาบาลหรือคุณหมอว่าจะเลี้ยงด้วยนมแม่ หลังคลอดลูกแล้วพยาบาลนำลูกของเราไปอาบน้ำ ทำความสะอาด และให้นมผงเลย ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ลูกติดการกินนมจากขวด ( เพราะดูดง่าย นมออกเยอะ กินทันใจดี) ทำให้เวลามากินนมจากเต้าของแม่ก็จะร้อง หงุดหงิด นอกจากนั้นยังส่งผลต่อร่างกายของแม่ด้วย เพราะหลังคลอดแล้วหากให้ลูกดูดนมแม่ทันที (แม้ว่าจะยังไม่มีน้ำนมออกมา) จะเป็น กระตุ้นร่างกายแบบธรรมชาติให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมา ในต่างประเทศหลายๆ ประเทศเลิกการให้นมผงกับลูกหลังคลอดแล้ว (แม้ว่าตัวคุณแม่จะไม่ได้บอกว่าจะขอเลี้ยงด้วนมแม่) หลังจากอาบน้ำทำความสะอาดแล้ว พยาบาลจะพาลูกกลับมาหาแม่และให้ลูกดูดนมแม่ทันที ซึ่งในปัจจุบันยังมีหลายโรงพยาบาลที่ยังคงทำแบบนี้ (คือให้ลูกเรากินนมผงเลย) ดังนั้นต้องตรวจสอบให้แน่ใจตั้งแต่เนิ่นๆ นะค่ะ อย่าได้ชะล่าใจไปเชียว
คุณแม่ทั้งหลายโปรดจำไว้นะค่ะว่า ตามธรรมชาติแล้วร่างกายของเราจะผลิตน้ำนมออกมาให้ลูกกินได้อย่างพอเพียงเสมอค่ะ (ไม่อย่างนั้นในสมัยก่อนที่นมผงยังไม่มี เด็กแรกเกิดคงจะอดตายกันหมดโลกแล้วละค่ะ)
เทคนิคอีกอย่างในการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมอย่างเพียงพอคือ ให้ลูกดูดนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมงตลอดกลางวันและกลางคืน (ในช่วงแรกๆ) แม้ว่าลูกดูดแล้วจะไม่มีน้ำนมออกมา แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้น้ำนมผลิตออก มามากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะการผลิตน้ำนมของเต้านมแม่นั้นหากได้รับการกระตุ้นอยู่เสมอๆ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมออกมาอย่างสม่ำเสมอและมีปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นการนอนหลับพักผ่อน การกินอาหารที่มี ประโยชน์ (ให้ครบ 5 หมู่) และการทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ก็จะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้มากขึ้น หากคุณแม่เหนื่อยกับการดูแลลูกหลังคลอดใหม่ๆ ก็อาจจะหาเวลาพักง่ายๆ ด้วยการนั่งเหยีบดปลายเท้าแบบผ่อนคลายเวลาที่ ลูกนอนหลับก็ได้ค่ะ
นอกจากนั้นอย่าลืมที่จะดื่มน้ำให้มากนะค่ะ คุณแม่ที่ให้นมลูกนั้นควรจะดื่มนมอย่างน้อย 3 ลิตรต่อวัน ควรจะจิบน้ำตลอดวัน และหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เหล้า หรือสูบบุหรี่ เพราะสิ่งที่คุณแม่รับเข้าไป จะมีผลต่อไป ยังน้ำนมของเราด้วยค่ะ

2. ลูกไม่ชอบดูดนมจากอกแม่ ดูดทีไรร้องไห้งอแง แต่พอให้กินจุ๊บขวดนมก็เงียบ ไม่รู้จะแก้ยังไง

ปัญหาลูก “ติด” การดูดนมจากจุ๊บขวดนม มาจากการที่ผู้ดูแล (หรือตัวคุณแม่เอง) เผลอให้ลูกดูดนมจากขวดนม ซึ่งการดูดนมจากขวดจะแตกต่างจากการดูดนมจากเต้านมแม่แน่นอน เพราะว่าการดูดนมจากจุ๊บของขวด นมจะใช้แรงน้อยกว่า และยังได้น้ำนมมากกว่าด้วย ลูกจึง “ติด” การดูดนมจากขวดนมมากกว่า
ทางแก้ก็คือ อย่าให้ลูกได้ดูดนมจากขวดนมเป็นอันขาด อย่าได้ลองเลยค่ะ เพราะลูกจะ “ติด” การดูดนมจากขวดนมง่ายกว่า และเลิกยากกว่ามาก จนสุดท้ายจะแก้ไขภายหลังก็ยากและเสียเวลามาก หากเราไม่เคยให้ลูก ดูดนมจากขวดเลย ลูกก็จะพยายามดูดนมจากเต้าเอง (เป็นไปเองตามธรรมชาติ)
หากเกิดปัญหาลูก “ติด” การดูดนมจากขวด จะโทษใครไม่ได้นอกจากโทษตัวเองที่ปล่อยให้ลูกรู้จักกับขวดนมก่อนวัยอันควรนั้นเองค่ะ โดยปกติเราจะไม่หัดให้ลูกดูดนมจากขวดในช่วง 4-5 สัปดาห์แรก แต่เมื่อลูกอายุ มากขึ้นก็อาจจะปรับเปลี่ยนให้ลูกรู้จักการดูดจากขวดนมได้บ้าง แต่ก็อาจจะเกิดปัญหาลูก “ติด” ได้ หากเป็นไปได้ก็ควรจะให้ลูกดูดนมจากอกแม่เท่านั้น (ยกเว้นกรณีที่ตัวคุณแม่ป่วย หรือไม่สามารถให้นมลูกได้ ต้องปั้มนมลูก ใส่ขวดอันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่งค่ะ)
3. เจ็บหัวนมมากเวลาลูกดูดนม
อาการเจ็บหัวนม หรือหัวนมเป็นแผลเพราะลูกดูดนม หรือลูกขบกัดหัวนมนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ก็สามารถป้องกันได้เช่นกัน ปัญหาที่ลูกกัดหรือขบหัวนม โดยมากเกิดจากการที่ตัวคุณแม่ให้นมในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง โดยตำแหน่งที่ถูกต้องนั้น ปากของลูกจะต้องปิดรอบลานนมได้สนิท ส่วนจุกหัวนมนั้นควรจะอยู่บริเวณตำแหน่งบนกลางลิ้นลูกพอดี ลูกจะใช้ลิ้นดันจุกหัวนม อาการเจ็บหัวนมก็จะไม่เกิดขึ้น แต่หากคุณแม่อุ้มลูกในตำแหน่งที่ ไม่ถูกต้อง (จุกหัวนมไม่ได้อยู่ตำแหน่งบนกลางลิ้น) ลูกก็จะพยายามดูดโดยอาจจะการขบ หรือใช้เหงือกร่วมด้วย จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการบาดเจ็บได้
ทางแก้ไขคือ นอกจากจะต้องจัดท่าให้นมให้ถูกตำแหน่งแล้ว หากรู้ว่าไม่ถูกตำแหน่งก็ควรจะหยุดให้นมทันที โดยการเอานิ้วเขี่ยที่มุมปากของลูกเบาๆ โดยธรรมชาติลูกจะหยุดดูดนมและอ้าปากตามเวลาเราเขี่ยที่มุมปาก ลูก เราก็ค่อยๆ เอานมออกจากปากลูก (อย่ารีบดึงนมออกจากปากลูก เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการเจ็บได้) หากเขี่ยที่มุมปากลูกแล้ว ลูกยังไม่ยอมหยุดดูด ก็ให้ใช้นิ้วกดลงบนคางลูก (ค้างไว้สักครู่) ลูกก็จะหยุดและอ้าปากเอง ตามธรรมชาติค่ะ นอกจากนั้นอาจจะใช้ครีมลาโนลินเพื่อช่วยลดอาการแตก และควรจะเปลี่ยนข้างในการให้นมลูก
4. อาหาร ยา และโรคติดต่ออื่นๆ จะส่งผลถึงน้ำนมที่ลูกกิน
  • จริงหรือเปล่าที่ว่า ถ้าแม่กินของแสลง ของแสลงจะส่งผ่านไปยังน้ำนมด้วย
  • เป็นความเชื่อโบราณที่น่าจะเคยได้ยินมา แต่ความจริงก็คือ อาหารต่างๆ เช่น แกงเลียง, ผักและผลไม้บางชนิด ที่คนโบราณเชื่อว่ากินแล้วจะดี (หรือไม่ดี) ต่อคุณภาพน้ำนมนั้น ความจริงคือ มีผลกระทบน้อยมาก ดังนั้น คุณแม่จึงควรใส่ใจกับการทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่มากกว่าจะไปเฉพาะเจาะจงกับเมนูใดเมนูหนึ่ง
  • ยาที่ทานมีผลส่งต่อกับลูกที่กำลังกินนมแม่หรือไม่
  • มีค่ะ เพราะยาส่วนใหญ่เกือบทุกชนิด (แม้กระทั่งยาแก้ไอ ยาแก้ปวดบางประเภท) ก็มีผลต่อระบบภายในของคุณแม่ ดังนั้นจะกินยาอะไรก็ควรจะปรึกษาคุณหมอที่ดูแลให้ดีก่อนเสมอ อย่าไปซื้อยากินเองนะค่ะ เพราะ พลาดท่าขึ้นมาจะไม่คุ้มเอาค่ะ
    สำหรับโรคติดต่อที่ส่งต่อทางน้ำนมแม่นั้น มีอยู่โรคเดียวคือ โรคเอดส์ค่ะ นั้นก็หมายความว่า หากคุณแม่ท่านใดที่ติดเชื้อ HIV เมื่อคลอดลูกออกมาแล้ว (ถึงแม้ว่าลูกจะไม่ติด HIV) ก็ไม่แนะนำให้คุณแม่ท่านนั้นเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ค่ะ เพราะเชื้อ HIV สามารถผ่านจากนมแม่ได้ค่ะ
ถึงแม้ว่าคุณแม่ที่กำลังให้นมลูกนั้น จะทานอาหารน้อย หรือทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วนตามหลักโภชนาในแต่ละมื้อ ก็อย่าเพิ่งกังวลมากเกินไปว่าน้ำนมที่ให้ลูกกินนั้นจะไม่ได้คุณภาพ เพราะด้วยระบบ ธรรมชาติจะผลิตน้ำนมที่มีสารอาหารที่ลูกต้องการได้อย่างครบถ้วน แต่หากแม่ท่านใดที่ได้รับประทานอาหารอย่างครบถ้วนแล้ว น้ำนมที่ได้ก็จะมีคุณภาพที่ดีกว่า (สารอาหารในปริมาณที่มากกว่า รวมถึงแร่ธาตุอาหารบางชนิด) ดังนั้นทางที่ดีคุณแม่ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูก ก็ควรจะทานอาหารให้ครบถ้วน

5. แม่ที่มีขนาดเต้านมเล็กจะมีน้ำนมน้อยกว่าคนเต้านมใหญ่

เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอีกเรื่องของคนส่วนมาก เพราะเมื่อเพศหญิงคลอดลูกแล้ว แม้ว่าก่อนจะคลอดลูกจะมีขนาดเต้านมที่เล็ก แต่ธรรมชาติก็จะปรับตัวให้เอง นั้นคือเมื่อลูกดูดนมจากอกแม่ เต้านมจะมีการปรับตัวและขยาย ใหญ่ขึ้นเพื่อเก็บปริมาณน้ำนมให้มากขึ้น โดยเต้านมนี้จะขยายใหญ่ขึ้นเองเท่าที่ปริมาณที่ลูกต้องการกินนมอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลว่าเราเป็นคนอกเล็กจะมีน้ำนมไม่พอเพียงกับลูกของเรานะค่ะ

เราจะดูแลเต้านมและหัวนมตัวเองอย่างไรในช่วงให้นมลูก

ปัญหาที่คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกจะต้องเจอบ่อยๆ นั้นก็คือ ปัญหาคัดเต้านม, เจ็บปวดจากการบวมพอง หรือหัวนมอาจจะเป็นแผลหรือแตก ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่เราจัดตำแหน่งการให้นมเจ้าตัวเล็กของเราไม่ถูกต้องเท่าไรนัก วันนี้เรามีเคล็ดลับการดูแลและป้องกันปัญหาเหล่านี้ค่ะ


ทำไมเต้านมถึงบวมหรือคัดหน้าอก
สาเหตุใหญ่มาจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง โดยจะเกิดขึ้นหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกออกมา โดยหน้าอกจะขยายตัวเพื่อเตรียมตัวสำหรับการผลิตน้ำนมให้ลูก (เป็นกลไกตามธรรมชาติ) สำหรับกรณีที่เกิดอาการบวม ให้บรรเทาอาการปวดด้วยการใช้ผ้าอุ่นประคบก่อนให้นมลูก และใช้ผ้าเย็นประคบในระหว่างให้นม ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการปวดแล้วยังช่วยให้ลูกดูดนมได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย แต่บางกรณีมีอาการบวมมากจนอาจจะเป็นไข้ร่วมด้วยนั้น ขอให้ไปพบคุณหมอนะค่ะ อย่าได้ซื้อยาลดไข้หรือยาใดๆ มาทานเองในช่วงที่เราให้นมลูกเด็กขาด เพราะยาจะมีผลส่งต่อไปยังลูกของเราผ่านน้ำนมแม่ด้วย

ทำไมหัวนมแตกหรือเป็นแผล
ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ลูกของเราไม่งับหัวนมเข้าไปทั้งหมด การแก้ไขจึงแก้ไขได้ง่ายๆ นั้นคือการจัดท่าให้นมลูกให้ถูกต้อง คือ ให้จัดตำแหน่งหัวนมของเราอยู่ตรงตำแหน่งด้านบน บริเวณกลางลิ้นของลูก และลูกจะต้องงับหัวนมเข้าไปจนริมฝีปากบนและล่างมิดฐานนมพอดี

นอกจากนั้นยังอาจจะเกิดในช่วงที่ลูกอายุประมาณ 3 เดือนเป็นต้นไป เพราะเด็กในวัยนี้จะเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมตัวเองมากขึ้น บ่อยครั้งเวลาที่คุณแม่กำลังให้นมอยู่ ลูกก็กลับหันหน้า (ทั้งที่ยังงับหัวนมอยู่) ไปมอง ทำให้การหันหน้าไปมาขณะที่กำลังดูดนมแม่นั้น จะสร้างความเจ็บปวดและอาจจะทำให้เกิดแผลแตกของหัวนมได้

ทางแก้ไขคือ ให้อุ้มลูกโดยให้ลูกนอนตะแคงเข้าหาตัวแม่ จัดท่าให้ศีรษะของลูกอยู่สูงกว่าลำตัวเล็กน้อย (เพื่อง่ายในการดูดนม) บริเวณท้ายทอยของลูกวางอยู่บริเวณแขนของแม่ โดยใช้มือและแขนคนละข้างกับเต้านมที่ลูกจะดูดประคองตัวลูกไว้ และใช้มือข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกจะดูดประคองเต้านม

ท่าอุ้มให้นมลูก
จากในรูปจะเห็นว่า คุณแม่ใช้มือซ้ายอุ้มลูกและประคองตัวลูกไว้ (เพราะว่าใช้เต้านมข้างขวาให้นมลูก) และใช้มือขวาประคองส่วนหัวของลูกให้แนบกับเต้านมมากขึ้น (ซึ่งถ้าเรามีหมอนก็สามารถเอามาหนุนศีรษะลูกแทนแล้วเอามือข้างขวามาช่วยประคองเต้านมไว้เผื่อลูกดูดนมแล้วหันหน้าหนี จะได้ไม่เกิดการดึงรั้งหัวนม

การป้องกันและรักษาอาการหัวนมแตกหรือเป็นแผล
การป้องกันเบื้องต้นสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องเสียเงินใดๆ ก็คือ หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว ให้คุณแม่ใช้น้ำนมของคุณแม่เองทาละเลงลงบริเวณหัวนมและปล่อยให้แห้งทุกครั้งหลังลูกดูดนม น้ำนมจะช่วยป้องกันการแห้งแตกของผิวบริเวณหัวนมได้ พอเวลาจะให้นมครั้งต่อไปคุณแม่ก็แค่ทำความสะอาดหัวนมอีกครั้งก็ให้ลูกดูดนมต่อได้ทันที

แต่หากเป็นแผลแตกแล้ว ควรจะงดให้ลูกดูดนมในเต้านมด้านที่เป็นแผล และแนะนำให้ไปพบคุณหมอ คุณหมอจะให้ครีมมา ซึ่งจะช่วยรักษาแผลแตกได้ดี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วันอาการเหล่านี้ก็จะดีขึ้น (แต่ระหว่างนี้ควรงดให้ลูกดูดนมข้างที่มีแผลแตกนี้อย่างเด็ดขาด) นอกจากนั้นหากเกิดอาการคัดเต้านม (ข้างที่เป็นแผล) คุณแม่ก็ควรจะบีบน้ำนมข้างนั้นออกเพื่อลดอาการคัดและปวดหน้าอก

นอกจากนั้นในกรณีที่เป็นผื่นแดง หรือรอยช้ำ หรือรู้สึกว่าบริเวณหน้าอกร้อนผิดปกติ ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นอาการบ่งบอกว่ากำลังติดเชื้อ อาการติดเชื้อเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้ในเวลารวดเร็วถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่แรก ดังนั้นอย่าได้ชะล่าใจปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านไปนะค่ะ

ทำไมเวลาลูกดูดนมเสร็จต้องให้ลูกเรอทุกครั้ง

หลังจากลูกดูดนมเสร็จแล้ว (ไม่ว่าจะดูดนมแม่หรือผ่านขวดนม) สิ่งที่เราเห็นชินตากันมานานก็คือ การจับอุ้มเด็กพาดบ่าให้เรอ บางครั้งลูกก็แหวะนมออกมา ทราบหรือไม่ว่า ทำไมเด็กถึงต้องเรอหรือแหวะนมออกมา และถ้าไม่ให้เรอจะเกิดผลเสียอย่างไรบ้าง


โดยปกติหากลูกของเราดูดนมอย่างรวดเร็ว (อาจจะเพราะหิวจัด) บางครั้งก็อาจจะเผลอดูดอากาศเข้าไปด้วย ยิ่งถ้าให้ลูกดูดนมจากขวด (ในปัจจุบันมีผู้ผลิตขวดนมบางรายอ้างว่าสามารถออกแบบขวดนมแบบพิเศษเพื่อป้องกันลูกดูดอากาศเข้าไปเวลาดูดนมได้) ก็จะมีอากาศเข้าไปในท้องของลูกด้วย สำหรับกรณีที่ลูกดูดนมแม่นั้น ก็มีโอกาสที่ลูกจะเผลอดูดอากาศเข้าไปได้เช่นกันในจังหวะที่ลูกหยุดดูดและอาจจะเผลออ้าปากออกจากฐานนม

ทำไมเด็กถึงแหวะนมหรือเรอ
เนื่องจากว่ากล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการดูดนมเข้าไปมากๆ บ่อยครั้งลูกจะแหวะนมออกมาเล็กน้อย และอาจจะตามมาด้วยการเรอ

จะให้ลูกแหวะนมหรือเรอต้องทำได้อย่างไร
ทำง่ายๆ ด้วยการอุ้มลูกพาดบ่า โดยขอแนะนำว่าให้หาผ้าสะอาดนุ่มๆ สักหน่อยวางรองบนบ่าของเราไว้ก่อน จากนั้นอุ้มลูก โดยให้บริเวณคางของลูกเราวางอยู่บนผ้าที่เราวางเตรียมไว้ แล้วก็ลูบหลังลูกเบาๆ ซึ่งในช่วงจังหวะนี้ ลูกของเราก็อาจจะหันหน้ามองไปมองมา หรืออาจจะดมๆ บริเวณบ่า ไหล่ หรือเส้นผมของคุณแม่ รวมถึงอาจจะใช้มือจิก หรือเล่นกับผมของแม่ ก็ระวังจะโดนลูกดึงผมนะค่ะ ถ้าลูกมีอาการตัวงอนิดหน่อย แสดงว่าในท้องของเขามีลม ให้อุ้มไว้สักพักลูกก็จะแหวะนมหรือเรอออกมาเองค่ะ

สำหรับเด็กบางคนซึ่งอาจจะไม่ยอมแหวะนมหรือเรอ (ซึ่งมักจะเป็นเด็กที่ดูดนมเป็นจังหวะ และดูดอย่างช้าๆ ไม่รีบเร่ง) พวกเขาอาจจะไม่ต้องการแหวะนมหรือเรอเลยก็ได้ ดังนั้นหากลองอุ้มพาดบ่าแล้ว ลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนม ก็ลองใช้วิธีวางลูกบนตักของคุณเอง โดยให้วางคว่ำและหันหน้าลูกไปทางด้านข้าง ซึ่งหากลูกมีลมในท้องหรือดูดนมมากเกินไปก็จะแหวะหรือเรอออกมาเองค่ะ

ถ้าลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนมจะเป็นไรไหม
หากลูกไม่ยอมเรอหรือแหวะนมออกมา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ลูกไม่ได้มีลมในท้อง และดูดนมในปริมาณที่พอดีกับร่างกายของเขา ดังนั้นก็ไม่น่าห่วงค่ะ แต่หากลูกมีอาการงอตัว หลังจากดูดนม แต่ไม่ยอมเรอ อาจจะเป็นอาการบ่งบอกได้ว่า ลูกมีลมในท้องมาก ต้องให้ลูกเรอให้ได้ค่ะ อาจจะอุ้มพาดบ่าให้นานขึ้น ช่วยลูบไล่ลมให้ลูกหรือตบเบาๆ ที่หลังของลูกก็ได้ค่ะ ซึ่งหากลูกมีลมในท้องแต่ไม่สามารถเรอออกมาได้ ลูกอาจจะร้องเพราะปวดท้องได้ นอกจากนั้นในระหว่างมื้อนั้น หากในท้องของลูกมีลมมาก เราจะสังเกตได้ว่าลูกของเราอึดอัดและร้องไห้บ่อย

บางครั้งลูกอาจจะเรอออกมาเป็นเสียงเบามากๆ จนบางครั้งถ้าเราไปให้ความสนใจในเรื่องอื่น เราจะไม่ได้ยินเสียงลูกเรอออกมา ดังนั้นการให้ลูกเรอหรือแหวะนมออกก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญด้วยนะค่ะ

เด็กทารกแรกเกิดต้องกินนมแค่ไหนถึงจะพอ

ตามธรรมชาติแล้ว เด็กทารกแรกเกิดจะมีความต้องการในการกินนมที่คล้ายๆ กัน แต่ก็มีเด็กบางคนเหมือนกันที่เกิดมาแล้วในช่วงแรกกลับเอาแต่นอนหลับ จนบางครั้งเมื่อถึงเวลากินนมก็ยังนอนหลับอยู่ แล้วเราจะต้องปลุกลูกขึ้นมากินนมไหม แล้วลูกของเราจะกินนมมากน้อยแค่ไหน เราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกกินนมแค่นี้แล้วจะอิ่มหรือเปล่า ฯลฯ คำถามเหล่านี้เชื่อว่าคุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะเคยสงสัย วันนี้เรามีคำแนะนำมาฝากค่ะ


ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กทารกแรกเกิดก่อนนะค่ะ เด็กแต่ละคนเกิดออกมามีบุคลิกและนิสัยที่แตกต่างกัน แต่จะมีเหมือนกันคือ จะร้องเมื่อหิว และจะกินนมเมื่อหิวเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายกังวลก็คือ ลูกของเราจะกินนมอิ่มไหม กรณีที่เลี้ยงลูกด้วยนมขวด หรือให้ลูกดูดนมจากขวดนมก็อาจจะมีตัวเลขของน้ำนมเป็นเกณฑ์ เช่น ลูกดูดนมครั้งละ 2, 3 หรือ 4 ออนซ์ เป็นต้น กรณีที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ลูกดูดนมจากอกแม่เอง) คุณแม่ก็คงจะวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ยาก แต่ทั้งหมดคุณแม่ทั้งหลายไม่ต้องกังวลมากเกินไปนะค่ะ

โดยเฉลี่ยเด็กทารกแรกเกิดจะต้องการนมต่อวันประมาณ 2.5 – 3.0 ออนซ์ต่อน้ำหนักตัว 1 ปอนด์ (ประมาณ 0.5 กิโลกรัม) ดังนั้นหากลูกมีน้ำหนักตัวแรกเกิด 4 กิโลกรัม (เด็กทั่วๆ ไปจะมีน้ำหนักแรกเกิดประมาณ 3.2 – 3.8 กิโลกรัม แต่ขอยกตัวอย่างเป็น 4 กิโลกรัมเพื่อง่ายในการคำนวนนะค่ะ) ดังนั้นปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการในแต่ละวันจะเท่ากับ ( 4 / 0.5) x 3 = 24 ออนซ์ต่อวัน นั้นแปลว่า จำนวนน้ำนมที่ลูกของเรา (ที่น้ำหนัก 4 กิโล) จะต้องการกินในแต่ละวัน (สูงสุด) ประมาณ 24 ออนซ์นั้นเอง ซึ่งโดยปกติลูกจะกินนมเกือบจะทุกๆ 2 ชั่วโมง ดังนั้นลูกของเราก็จะกินครั้งละประมาณ 2 ออนซ์ค่ะ (แต่กินบ่อยประมาณ 10-12 ครั้งต่อวัน)

ทั้งนี้การให้ลูกดูดนมแม่นั้น ลูกสามารถดูดนมแม่หมดเต้าในแต่ละข้างภายใน 5-7 นาทีแรกเลยทีเดียว แต่บ่อยครั้งลูกจะเริ่มผ่อนจังหวะการดูดนมช้าลง ซึ่งน้ำนมที่ลูกดูดทั้ง 2 เต้านั้น รวมๆ แล้วก็จะมีปริมาณที่พอเพียงสำหรับลูกได้ค่ะ ดังนั้นอย่าได้กังวลว่าลูกจะดูดนมแม่ได้น้อย หรือลูกจะไม่อิ่มนะค่ะ

บางครอบครัวก็กังวล (คิดไปเอง) ว่าน้ำนมที่มีนั้นน้อย กลัวลูกกินนมแม่อย่างเดียวจะไม่อิ่ม เลยมีนมวัวเสริมในบางมื้อด้วย ยิ่งจะทำให้ลูกอิ่มนานขึ้น ทำให้ลูกหิวและดูดนมแม่ได้ช้าลง กลไกการผลิตน้ำนมแม่ก็จะยิ่งผลิตน้อยลง เพราะน้ำนมแม่นั้น ยิ่งลูกดูดบ่อยแค่ไหน ระบบธรรมชาติของร่างกายคุณแม่ก็จะยิ่งผลิตน้ำนม (เพื่อให้มีน้ำนมปริมาณมากพอและมีทันลูกกิน) แต่เมื่อลูกไปกินนมวัวเพิ่ม ก็จะทำให้ระบบสร้างน้ำนมช้าลงไปอีก และเมื่อลูกดูดนมแม่ ก็จะมีน้ำนมน้อย แล้วพ่อแม่ก็กลับไปให้ลูกกินนมวัวอีก ก็ยิ่งซ้ำเติมและซ้ำวงจนเหล่านี้ไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายน้ำนมของแม่เองจะผลิตน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นหากตัดสินใจว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ก็ไม่ต้องให้ลูกไปกินนมวัวนะค่ะ แต่ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยๆ แม้จะมีน้ำนมน้อย แต่ก็เป็นแค่ช่วงวันแรกๆ หลังคลอดเท่านั้น ซึ่งตามธรรมชาติแล้วลูกของเราหลังจากที่เพิ่งออกมาดูโลกนั้น ยังสามารถอดทนได้รับน้ำนมในปริมาณที่น้อยได้ค่ะ

ถ้าถึงเวลากินนมแต่ลูกนอนหลับ ต้องปลุกลูกมากินนมไหม
เด็กทารกบางคนก็มีนิสัยเงียบๆ ชอบนอนมากๆ จนบางครั้งนอนแต่ละครั้งนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งหากลูกเอาแต่นอนหลับนานจนเลยเวลาที่จะให้นมไปมากก็ควรจะปลุกลูกขึ้นมาให้ลูกกินนมบ้าง ยิ่งถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยแล้ว หากลูกนอนหลับในแต่ละครั้งมากกว่า 4 ชั่วโมงก็ควรจะปลุกลูกขึ้นมาให้เขาได้ดูดกระตุ้นน้ำนมด้วย เพราะปริมาณน้ำนมจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการดูดนมของลูกเท่านั้น แต่โดยมากพฤติกรรมเอาแต่นอนนั้นมักจะเป็นในช่วงวันแรกๆ หลังคลอดเขาเท่านั้นและอาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน และลูกก็จะกลับมาเป็นปกติค่ะ

จะรู้ได้ไงว่าลูกร้องเพราะหิวนม

นช่วงสัปดาห์แรกที่ลูกเพิ่งจะออกมาดูโลกนั้น โดยมากลูกมักจะร้องไห้เพราะหิว ถ้าเราเปลี่ยนผ้าอ้อมก็แล้ว อุ้มโยกเบาๆ ก็แล้ว และลูกไม่ได้ร้องแบบเจ็บปวดทรมาน ก็แน่นอนว่าลูกของเรากำลังหิวแล้วนั้นเอง ยิ่งถ้าเราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยแล้ว ลูกจะหิวและร้องไห้กินนมเฉลี่ยทุก 2 – 3 ชั่วโมง (จะหิวบ่อยกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมวัว) ดังนั้นหากลูกร้องไห้หิวนมเกือบๆ จะทุก 2 – 3 ชั่วโมง ก็แสดงว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะว่านมแม่นั้นลูกสามารถย่อยได้เร็วกว่านมวัว


เด็กทารกแรกเกิดบางคนร้องหิวนมเกือบจะทุกชั่วโมงก็มีนะค่ะ อาการที่สังเกตได้ง่ายๆ อีกอย่างคือ เมื่อลูกร้องเพราะหิว เขาจะผงกศีรษะขึ้น อ้าปาก หรือบางคนก็ดูดปากตัวเอง หรือทำท่าเหมือนกำลัวพยายามจะดูดอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาในปาก นั้นก็แปลว่าเขาหิวแล้วค่ะ

เมื่อลูกเติบโตขึ้น บางครั้งลูกร้องก็อาจจะไม่ใช่การร้องเพราะหิวเสมอไป บางครั้งลูกอาจจะร้องเพราะผวา ฝันร้าย รวมถึงตกใจเพราะเสียงรอบข้างดังเป็นต้น แต่เราก็ยังสามารถสังเกตได้จากอาการของลูกดังกล่าว รวมถึงดูเวลาว่าห่างจากการกินนมครั้งก่อนแค่ไหนแล้วก็ได้เช่นกัน

จะรู้ได้ไงว่าลูกกินนมอิ่มหรือเปล่า

หากให้ลูกดูดนมจากขวดนมก็สามารถวัดได้ง่ายเพราะมีจำนวนออนซ์แสดงไว้บนขวดนม สำหรับกรณีให้ลูกดูดนมจากอกแม่เอง ก็สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ค่ะ โดยสังเกตจากปริมาณปัสสาวะและอุจจาระที่ลูกปล่อยออกมาได้โดยปกติหากลูกได้รับน้ำนมในปริมาณที่พอเพียงก็จะปัสสาวะบ่อยมาก ถ้าใช้เป็นผ้าอ้อมแบบเดิม (ผ้าอ้อมที่มาจากผ้าฝ้ายไม่ใช่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป) ก็จะเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกอย่างน้อยสัก 6-7 ครั้งต่อวันเป็นอย่างน้อย ก็ถือว่าเป็นปกติค่ะ ส่วนเรื่องอุจจาระก็จะมีลักษณะเหลืองๆ เหนียวๆ หรืออาจจะถ่ายอุจจาระวันเว้นวันก็เป็นเรื่องปกตินะค่ะ (กรณีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่)

คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยให้ลูกดูดนมจากอกแม่โดยตรง ไม่ควรกังวลมากเกินไปว่าลูกเราวันนี้กินนมไปมากแค่ไหนแล้วในวันนี้ แค่ให้เขาได้กินนมทุกครั้งที่เขาหิว ตัวคุณแม่ก็จะรู้ได้เองค่ะว่าลูกได้รับน้ำนมพอหรือไม่ ตราบใดที่เขายังปัสสาวะทุกครั้งเมื่อได้กินนม ปากของเขาไม่แห้ง และเมื่อดวงตาของเขาไม่ดูอิดโรย

นอกจากนั้นโดยปกติแล้วหลังคลอด คุณหมอจะนัดคุณแม่กับคุณลูกให้ไปตรวจร่างกายอีก ซึ่งคุณหมอก็จะวัดความยาวและชั่งน้ำหนักตัวของลูก ซึ่งลูกก็จะมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักและความยาวของตัวมากขึ้น สิ่งสำคัญคือคุณแม่เองห้ามกังวลหรือเครียดว่าลูกจะกินนมไม่พอหรือตัวเองจะมีน้ำนมไม่เพียงพอนะค่ะ เพราะความกังวลเหล่านั้นจะยิ่งทำให้ระบบการสร้างน้ำนมในตัวนั้นทำงานได้น้อยลง

นอกจากนั้นหากเราเลี้ยงลูกโดยให้เขาดูดนมจากอกของเรานั้น จะสังเกตได้ว่า ลูกจะดูดนมทั้ง 2 ข้างจนหมด และยังสามารถสังเกตได้หลังจากที่เขาดูดนมเสร็จแล้ว เขาจะแสดงท่าทีพอใจและอารมณ์ดีขึ้น มีความสุขหลังจากกินนม นั้นก็แปลว่าเขาอิ่มแล้วละค่ะ

ปัญหาการแพ้นมในเด็กทารก

ปัญหาการแพ้นมในเด็กทารกนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และบางรายก็มีอาการแพ้ที่รุนแรงมาก ซึ่งอาจอันตรายถึงขั้นรุนแรง ทำให้หายใจติดขัด ผิวหนังลอก เป็นแผล อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดได้ แต่ทราบหรือไม่ว่าทำไมเด็กจึงแพ้นม และนมประเภทไหนบ้างที่มีโอกาสที่ลูกของเราจะแพ้วันนี้เรามีคำตอบค่ะ


นมแบบไหนที่ลูกของเรามีโอกาสแพ้

ในปัจจุบันมีน้ำนมมาจากหลายแหล่งที่สามารถนำไปเลี้ยงทารกแรกเกิดได้ แต่หากจะแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็คือ นมจากธรรมชาติ (นมแม่) และนมที่มาจากการผสมระหว่างนมของสัตว์กับแร่ธาตุอาหารอื่นๆ (นมผงที่มาจากนมวัว, นมผงที่มาจากนมแพะ, นมผงที่มาจากถั่วเหลือง)

นมแม่ : นมจากธรรมชาติที่ปลอดภัยที่สุดในโลกจริงเหรอ
นมแม่นั้นถือว่าเป็นนมที่ปลอดภัยที่สุด มีโอกาสที่ลูกจะแพ้นมแม่ได้น้อยมากที่สุด หากลูกเกิดอาการแพ้หลังจากที่ดูดนมแม่ สาเหตุไม่ได้มาจากนมแม่ แต่มาจากอาหาร, ยาหรือสารพิษต่างๆ ที่คุณแม่ได้รับในระหว่างที่อยู่ในช่วงให้นมลูก แต่โดยธรรมชาติแล้ว แม้ว่าคุณแม่เองจะได้รับสารอาหารไม่ดีแค่ไหนแต่ร่างกายก็จะสกัดเอาสารพิษเหล่านั้นออกไปก่อนจะออกมาเป็นนมแม่ แต่ก็บางครั้งที่อาจจะมีสารตกค้างจากยา หรือสารพิษอื่นๆ ที่คุณแม่ได้รับแล้วส่งต่อไปยังนมแม่ได้บ้าง

ทางแก้ไขและป้องกันก็คือ คุณแม่เองควรจะดูแลตัวเองให้มาก ควรใส่ใจอาหารการกินและระวังเรื่องการกินยา ไม่ว่าจะยาใดๆ หรือแม้กระทั่งเวชสำอางค์ต่างๆ รวมถึงยาทาสิว, ยาแก้สิวอักเสบ ฯลฯ ก็ควรจะสอบถามคุณหมอก่อนเสมอ แต่ให้ดีที่สุดก็คือพยายามหลีกเลี่ยงเคมีต่างๆ ให้มากเพื่อความปลอดภัยของลูกเราจะดีกว่าค่ะ

นมผง : นมวัว, นมแพะ และนมถั่วเหลือง เหมาะสำหรับทารกแรกเกิดหรือไม่
ถ้าให้พูดตามตรงต่อให้โลกมีวิทยาการก้าวไกลไปมากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่มีบริษัทหรือผู้ผลิตนมผงรายใดจะสามารถผลิตหรือผสมนมผงที่มีคุณประโยชน์เทียบเท่ากับนมแม่ได้เลย แม้ว่าในระยะหลังๆ จะมีโฆษณาว่าได้เติมส่วนผสมนั้นนี่โน้นลงไป ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก วิตะมินต่างๆ ลงไปเพื่อให้ได้สารอาหารเทียบเท่าตามที่นมแม่มีทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถเติมลงไปได้นั้นคือระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันในนมแม่นี้จะส่งต่อจากแม่สู่ลูกผ่านทางนมแม่เท่านั้น ต่อให้เทคโนโลยีก้าวไกลไปแค่ไหนแต่ก็ยังไม่มีผู้ผลิตนมผงรายใดจะสามารถผลิตนมผงที่มีภูมิคุ้มกันได้เหมือนนมแม่

ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กทารกต้องมากินนมผงที่มีส่วนผสมจากนมวัว, นมแพะหรือนมถั่วเหลืองก็คือ เด็กทารกบางรายไม่สามารถย่อยโปรตีนในนมที่มาจากนมวัว, นมแพะหรือนมถั่วเหลืองได้ เนื่องจากว่าโครงสร้างของโปรตีนในน้ำนมเหล่านี้จะย่อยยากกว่าโปรตีนที่มีในนมแม่ นอกจากนั้นเด็กทารกแรกเกิดระบบการย่อยและจัดการของเสียต่างๆ ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นแลคโตส (ซึ่งเป็นน้ำตาลในน้ำนมซึ่งร่างกายเด็กทารกต้องการ) ในนมวัว นมแพะหรือนมถั่วเหลืองต่างๆ นั้นร่างกายของเด็กทารกแรกเกิดจะยังไม่สามารถย่อยได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อย่อยได้ไม่ดีก็จะเกิดเป็นของเสีย จึงเกิดอาการท้องเสีย นอกจากนั้นบางครั้งยังไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการแพ้รุนแรงได้อีกด้วย

ทางแก้ไขและป้องกันก็คือ หากคุณแม่ตัดสินใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมผง ก็ต้องคอยสังเกตอาการต่างๆ ของลูกด้วย เพราะบางครั้งการแพ้นมผงนั้น อาจจะไม่ได้เกิดอาการรุนแรง ไม่ได้มีผื่นแดง แต่ลูกอาจจะมีอาการแค่ท้องเสีย ท้องอืด (เพราะย่อยนมได้ไม่เต็มที่) เมื่อสงสัยว่าลูกอาจจะแพ้นมผงชนิดใดก็ควรจะรีบปรึกษาคุณหมอ คุณหมอจะช่วยตรวจดูให้ว่าลูกของเราแพ้นมชนิดใดและจะได้ปรับเปลี่ยนให้ไปใช้นมผงแบบอื่น

จะรู้ได้ไงว่าลูกแพ้นมหรือเปล่า
อาการแพ้นมนั้นเกิดจากการที่ลูกไม่สามารถย่อยน้ำนมได้ โดยมากจะมีอาการเหล่านี้ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณเตือนคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกของท่านอาจจะเกิดการแพ้นม

บ้วนหรือพ่นน้ำลายบ่อยๆ หรืออาเจียนหลังจากกินนม
ร้องไห้บ่อย โดยเฉพาะหลังจากเพิ่งกินนมเข้าไป (เพราะลูกย่อยน้ำนมไม่ได้จะเกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง)
ท้องร่วง หรือถ่ายเป็นเลือด
มีผื่นตกสะเก็ดตามผิวหนัง (โดยมากจะเกิดขึ้นกรณีเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน)
มีผื่นแดงเป็นวงใหญ่ ลักษณะตุ่มคล้ายๆ รังผึ้ง เป็นวงสีแดงนูนบนผิวหนัง
หายใจติดขัด มีอาการบวมแถวๆ บริเวณปากหรือลำคอ
มีอาการเซื่องซึม เฉื่อยชา ซึ่งหากมีอาการเซื่องซึมจะเป็นอาการบอกเหตุขั้นรุนแรงแล้วนะค่ะ
ดังนั้นถ้าสงสัยว่าลูกจะแพ้นม ให้รีบพาลูกไปพบคุณหมอทันทีนะค่ะ

หลังคลอดลูกแล้วสามารถเบิกเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมได้หรือเปล่า

วันนี้เราจะมาแนะนำคุณแม่หลังคลอดคร่าวๆ ว่า หลังจากที่เราคลอดลูกแล้ว เราสามารถขอเบิกเงินอะไรได้บ้างจากประกันสังคมค่ะ


เงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากประกันสังคม (ทุกกรณี) ที่เกี่ยวกับการคลอดลูก
ผู้ยื่นเรื่อง (สามี หรือ ภรรยา) ต้องเป็นผู้ประกันตน และก่อนกำหนดคลอด 15 เดือน จะต้องส่งเงินประกันสังคมอย่างน้อย 7 เดือนติดต่อกันจึงจะมีสิทธิ แปลง่ายๆ ว่า เรา (สามีหรือภรรยา) ย้อนกลับไปก่อนวันคลอดลูก ต้องเคยส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 เดือนติดต่อกัน

คลอดลูกที่โรงพยาบาล ค่าคลอดลูกเบิกประกันสังคมได้ไหม
เบิกได้ค่ะ สามารถเบิกได้สูงสุด 13,000 บาทต่อการคลอดลูก 1 ครั้ง ถึงจะคลอดลูกแฝดก็เบิกได้แค่ 13,000 บาทนะค่ะ ไม่เกี่ยวกับจำนวนลูกของเรานะค่ะ

แล้วต้องไปคลอดกับโรงพยาบาลที่เราสังกัดหรือเปล่า
ไม่จำเป็นค่ะ ถ้าเราคลอดลูกที่โรงพยาบาลอื่น เราก็ออกเงินไปก่อน แล้วค่อยทำเรื่องเบิกกับประกันสังคมภายหลังได้ค่ะ

เงิน 13,000 บาทที่ขอเบิกได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
เริ่มตั้งแต่ค่าตรวจและค่ารับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่และค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาล (ช่วงหลังคลอดวันแรกๆ ) ค่าบริบาลและรักษาพยาบาลทารกแรกเกิด ค่ารถพยาบาลหรือค่าพาหนะรับส่งผู้ป่วย และค่าบริการอื่น ๆ ทั้งนี้เราสามารถขอรับบริการคลอดลูกที่โรงพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวก แล้วนำหลักฐาน (ใบเสร็จของแต่ละรายการ) มายื่นเรื่องขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีคลอดลูกได้ที่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือจังหวัดทั่วประเทศค่ะ

ถ้าสามีและภรรยาต่างก็ส่งเงินเข้าประกันสังคมทั้งคู่ แบบนี้เบิกคู่เลยได้ไหมค่ะ
ไม่ได้ค่ะ สามารถใช้สิทธิเบิกได้แค่ 1 คนเท่านั้นนะค่ะ

ภรรยาเป็นแม่บ้าน ไม่ได้ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม แต่สามีส่งเงินเข้ากองทุน แบบนี้เบิกได้ไหม
เบิกได้ค่ะ โดยใช้สิทธิของฝ่ายสามีในการเบิกเงินจากประกันสังคม ทั้งนี้สามีต้องเคยส่งเงินเข้าประกันสังคมตามเงื่อนไขข้างต้นนะค่ะ

ถ้าไม่จดทะเบียนสมรส จะเบิกได้ไหม
กรณีสามีไม่ได้แต่งงาน (จดทะเบียน) กับภรรยา แล้วฝ่ายหญิงก็เป็นแม่บ้านและไม่เคยส่งเงินเข้าประกันสังคม แต่ฝ่ายสามีจ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่องก็สามารถใช้สิทธิสามีเบิกแทนได้ค่ะ ทางประกันสังคมเขาจะมีแบบฟอร์มเฉพาะสำหรับคนที่อยู่กินด้วยกันแบบเปิดเผยแต่ไม่จดทะเบียนให้ยื่นนะค่ะ

ใช้สิทธิเบิกสวัสดิการคลอดลูกได้สูงสุดกี่คน
สำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน สามารถใช้สิทธิเบิกได้ไม่เกิน 4 คน หมายถึง ฝ่ายสามีใช้สิทธิเบิกได้ 2 คน และฝ่ายภรรยาใช้สิทธิเบิกได้อีก 2 คน ถ้ามีลูกคนที่ 5 ก็จะเบิกไม่ได้แล้วค่ะ หรือกรณีที่ฝ่ายชายหรือหญิงไม่เข้าข่ายรับผลประโยชน์ (ไม่ได้ส่งเงินเข้ากองทุน) ก็จะใช้สิทธิเบิกได้แค่ลูก 2 คนเท่านั้นนะค่ะ

ฝ่ายสามีหรือภรรยารับราชการ เขาเบิกสวัสดิการราชการไปแล้ว จะเบิกประกันสังคมซ้อนได้ไหม
เบิกได้ค่ะ หากอีกฝ่ายส่งเงินเข้ากองทุนและเข้าข่ายสามารถรับสิทธิได้ ก็สามารถเบิกเงินช่วยเหลือได้เช่นกัน

หลังคลอดลูก เราจะได้เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกอีกไหมจากประกันสังคม
เราสามารถขอเบิกเงินช่วยเหลือการเลี้ยงดูลูก (ประกันสังคมใช้คำว่า สงเคราะห์บุตร) ได้อีก นับตั้งแต่ลูกของเรามีอายุ 1 วันจนถึงอายุ 6 ขวบ โดยสามารถเบิกได้เดือนละ 400 บาทต่อคน สูงสุดไม่เกิน 2 คนค่ะ แต่เงื่อนไขการรับเงินสงเคราะห์บุตรนี้ ผู้ขอเบิกจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนจะทำเรื่องขอเบิก

แปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า ย้อนหลังก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะออกมาดูโลก 36 เดือน คุณต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน หากเราทำงานต่อเนื่องมา 12 เดือน (ส่งเงินเข้ากองทุนตลอด) พอขึ้นเดือนที่ 13 เราคลอดลูกก็สามารถเบิกเงินสงเคราะห์บุตรได้ค่ะ

สำหรับคำถามอื่นๆ สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนของประกันสังคม 1506 หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บสำนักงานประกันสังคมนะค่ะ

หวังว่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่มีสิทธิ อย่าลืมใช้สิทธิเบิกเงินชดเชยนะ แม้จะได้ไม่มากเท่าไรแต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลยนะค่ะ

3 ข้อคิดก่อนตัดสินใจมีสัตว์เลี้ยงเมื่อลูกยังเป็นเด็กทารก

การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข หรือ แมว ในช่วงที่ลูกของเรายังเป็นวัยทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบปีแรกนั้น จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เราจะเอาใจใส่ให้กับสัตว์เลี้ยง, ความเหมาะสมของสัตว์เลี้ยงที่จะนำเข้ามาร่วมในครอบครัว รวมถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างสัตว์เลี้ยงกับลูกของเรา ดังนั้นก่อนที่คุณจะนำสัตว์เลี้ยงใดๆ เข้ามาอยู่ร่วมในครอบครัวซึ่งมีเด็กอ่อน หรือเด็กทารกอยู่ด้วยนั้น ต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักที่สำคัญดังนี้

1. คุณสามารถแบ่งมาให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณมากแค่ไหน

ปัจจัยเรื่องเวลาถือเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้ที่คิดจะมีสัตว์เลี้ยง ยิ่งคุณต้องทำงานนอกบ้าน, ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ รวมถึงยังต้องดูแลลูกซึ่งหากลูกของคุณเเพิ่งจะออกมาดูโลกด้วยแล้ว เวลาเกือบทั้งหมดของคุณมักจะต้องทุ่มเทให้กับลูกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ลูกนอน ตอนลูกตื่น สิ่งเหล่านี้จะดึงเวลาของคุณไปเกือบทั้งหมดของวัน นี่ยังไม่รวมเวลาพักผ่อนส่วนตัวของคุณเองและคนรักที่จะต้องมีให้กันและกันด้วย
หากคุณมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเวลา และแบ่งเวลามาดูแลอีกหนึ่งชีวิตอย่างเจ้าสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณได้แล้วละก็ ประเด็นนี้ก็ผ่านไปด้วยดี แต่หากคุณลองคิดแล้วเห็นว่า คุณคงไม่มีเวลามาเล่นกับมัน ให้อาหาร พูดคุย หรือพามันไปเดินเล่น ขอแนะนำว่าคุณอย่าเพิ่งนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาร่วมในครอบครัวของคุณจะดีกว่า เพราะสัตว์เลี้ยงทุกชนิดต่างก็ต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากเจ้าของเช่นกัน

2. สัตว์เลี้ยงของคุณเหมาะกับวัยของลูกของคุณหรือเปล่า

เด็กทารกแรกเกิดกับเด็กที่อายุมากกว่า 6 ปี ร่างกายมีภาวะภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน ความแข็งแรง และความสนใจต่อโลกภายนอกก็ไม่เท่ากัน รวมถึงการสื่อสาร การช่วยเหลือตัวเองจากสิ่งรบกวนก็ไม่เท่ากัน หลายครั้งจึงเกิดเหตุการณ์ที่สัตว์เลี้ยงบางประเภททำร้ายเด็กในบ้าน ความผิดไม่ได้เกิดจากสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด แต่สาเหตุที่สัตว์เลี้ยงทำร้ายเด็กเล็กภายในบ้านนั้น เกิดจากสัญชาติญาณของสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิดที่อาจจะเกิดความรำคาญ หรือโกรธจากสิ่งเร้าที่ลูกของเราไปทำกับเขาไว้นั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น สุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในบ้าน หลายครอบครัวนั้นคิดว่าสุนัขที่เราเลี้ยงมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ มันคงไม่ทำร้ายลูกของเราเด็ดขาด แต่หารู้ไม่ว่า สุนัขที่เหมาะกับบ้านที่มีเด็กเล็กหรือเด็กอ่อนนั้นมีไม่กี่สายพันธุ์เท่านั้น บางสายพันธุ์ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงเมื่อในบ้านเมื่อเรามีเด็กอ่อนหรือลูกยังอยู่ในวัยทารกแรกเกิด เพราะสุนัขบางสายพันธุ์เป็นพวกที่มีความอดทนต่อสิ่งเร้าภายนอกต่ำ นอกจากนั้นสุนัขบางสายพันธุ์เป็นพวกชอบเห่า ชอบหอน จะทำให้ลูกของเราที่ยังนอนหลับไม่เป็นเวลาต้องตื่นนอนเพราะสิ่งเห่าหอนของพวกมัน
นอกจากนั้นหากผู้เลี้ยงไม่ใส่ใจในตัวสัตว์เลี้ยงให้มาก มันก็อาจจะเป็นพาหะนำพาเชื้อโรคต่างๆ เข้ามาในบ้าน และอาจจะมาถึงตัวลูกของเราได้ง่ายๆ เช่นกัน
สำหรับสุนัขที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่า น่าจะเหมาะสำหรับบ้านที่มีเด็กๆ (แต่ไม่ได้ออกมาแนะนำแบบฟันธงว่ามันเหมาะสำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ปีนะค่ะ) ได้แก่ สุนัขพันธุ์บีเกิ้ล (Beagle), โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever), พุดเดิ้ล (Poodle) และ ลาบาดอล (Labrador) แต่ไม่ว่าจะเป็นสุนัขสายพันธุ์ไหนก็ตาม ต้องแน่ใจว่ามันถูกฝึกให้เชืองและฟังคำสั่งของคนในบ้านแล้ว
3. บทบาทของคุณและลูกของคุณกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก
พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกได้เติบโตมาพร้อมๆ กับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เขามีนิสัยที่อ่อนโยน มีระเบียบวินัยและรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น นี่ก็เป็นข้อดีหากเราเลี้ยงลูกของเราและฝึกให้ลูกของเราเอาใจใส่และมีความรักกับสัตว์เลี้ยงของเรา แต่หากคุณเองไม่สามารถสอนหรือแนะนำลูกว่าต้องวางตัวอย่างไร ต้องปฏิบัติตัวเองอย่างไร และมีหน้าที่อย่างไรกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน สิ่งที่คุณวาดหวังว่าลูกของคุณจะเติบโตมาพร้อมกับสัตว์เลี้ยงที่น่ารักคงต้องเป็นแค่ความเพ้อฝันเท่านั้น
การจะมอบหมายให้ลูกรู้จักมอบความรัก และอ่อนโยนต่อสัตว์เลี้ยง คุณในฐานะพ่อและแม่ ต้องทำเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน เพราะเด็กตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 6 ขวบปีแรก เด็กจะมองพฤติกรรมของพ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเป็นตัวอย่าง หากพ่อแม่มีความอ่อนโยน มอบความรักให้กับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน เด็กก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้ตามไปด้วย และจิตใจของเขาก็จะอ่อนโยน รู้จักมอบความรักให้คนอื่นเช่นกัน
ทั้งนี้การนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในบ้านที่มีเด็กอ่อนหรือเด็กในวัยแรกเกิดถึง 6 ปีแรก อาจจะเหมาะหรือไม่เหมาะก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของคนในบ้านเป็นสิ่งสำคัญ หากครอบครัวไหนสามารถปรับตัวได้ แบ่งเวลาได้ชัดเจน การมีสัตว์เลี้ยงร่วมกับเด็กอ่อนก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ

ทารกวัยแรกเกิดฟังเพลงโมสาร์ทบ่อยๆ จะเพิ่มความฉลาดได้ไหม

การฟังเพลงคลาสสิคในช่วงที่เรากำลังตั้งครรภ์นั้นจะมีผลต่ออารมณ์ของแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งเราเคยเขียนเอาไว้ในบทความ เปิดเพลงคลาสสิคให้ทารกในครรภ์ฟังลูกจะฉลาดขึ้นจริงหรือ ซึ่งเสียงเพลงที่มีจังหวะสบายๆ จะทำให้จิตใจของคุณแม่ได้ผ่อนคลายและยังส่งผลต่อทารกในครรภ์ให้รู้สึกมีความสุขตามไปด้วย แต่หลังจากที่เราคลอดลูกออกมาแล้ว การฟังเพลงคลาสสิคอย่างเช่น เพลงโมสาร์ท หรือแม้แต่เพลงสำหรับคนท้องที่ขายกันทั่วไปจะยังมีผลกับทารกวัยแรกเกิดบ้างหรือไม่ เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ คนคงอยากจะรู้ว่าการเปิดเพลงคลาสสิคให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กๆ จะช่วยเพิ่มความฉลาดให้กับลูกได้หรือไม่

โดยพื้นฐานของบทเพลงทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเพลงคลาสสิค เพลงสำหรับคนท้องที่ถูกประพันธ์ขึ้นมาโดยเฉพาะ หรือแม้แต่เสียงร้องเพลงที่พ่อแม่ร้องให้ลูกฟังนั้น เวลาที่ลูกเราฟังเสียงเพลงนั้น ในช่วงแรกเกิดซึ่งเขายังแยกแยะเสียงไม่ออกนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ลูกสามารถรับรู้ได้คือ อารมณ์ของน้ำเสียงที่ได้ยิน การเปิดเพลง (หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง) โดยเน้นที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย การมีอารมณ์สนุกร่วมไปกับเสียงเพลง สิ่งเหล่านี้เด็กทารกในวัยแรกเกิดสามารถรับรู้ได้ค่ะ และเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงร้องที่อบอุ่นไปด้วยความรักของพ่อแม่บ่อยๆ เด็กทารกจะเกิดความรู้สึกปลอดภัยและเชื่อใจในเสียงของพ่อแม่ (เพราะในช่วงแรกเกิดนั้น เด็กทารกยังมองหน้าของพ่อแม่ในระยะห่างๆ ไม่เห็น แต่หูของเขาจะได้ยินชัดเจน)
หลายๆ คนอาจจะสังเกตว่า เวลาที่ลูกเราร้องไห้ (ทั้งๆ ที่นอนหลับหรือตายังปิดอยู่) บางครั้งแค่พ่อแม่ร้องเพลงเห่กล่อมเบาๆ ลูกก็คลายความกังวลและนอนหลับต่อได้เอง นี่คือสิ่งที่ลูกรับรู้ได้จากการได้ยินเสียงนั้นเอง การเปิดเพลงในระหว่างวันนั้น ยังช่วยกระตุ้นทักษะด้วยการฟังของลูกด้วยอีกทาง เพราะเด็กในวัยแรกเกิดนั้น ช่วงแรกๆ เขาจะยังแยกแยะทิศทางของเสียงไม่ได้ แต่พออายุสักประมาณ 2 เดือน เมื่อเราเปิดเพลงและเขาได้ยินเสียง เขาจะเริ่มพยายามหันหน้า หรือหันคอไปตามเสียงเพลง ซึ่งเป็นการช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสให้กับลูกได้อีกทางหนึ่งด้วย

เปิดเพลงโมสาร์ทดีกว่าเพลงทั่วไปจริงเหรอ?

เพลงคลาสสิคจะดีกว่าเพลงปกติทั่วไปหรือไม่ หรือเพลงคลาสสิคของโมสาร์ทจะมีส่วนช่วยกระตุ้นสมองของเด็กทารกหรือไม่นั้น ทางการแพทย์ยังไม่มีงานวิจัยออกมาอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่มีผลอย่างแน่นอนคือ แหล่งที่มาของเสียงและอารมณ์ของเสียง ดังนั้นการเปิดเพลงทั่วไปหรือการเปิดเพลงคลาสสิคอย่างเพลงของโมสาร์ทแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่สำหรับการร้องเพลงให้ลูกฟังบ่อยๆ นั้นอาจจะต่างออกไปเล็กน้อย เพราะนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายมีความสุขแล้ว ลูกจะยังจำเสียงของพ่อแม่ได้เร็วกว่า และพ่อแม่เองก็มีความสุขร่วมไปกับลูกด้วยเช่นกัน เป็นการเติมเต็มความรักในครอบครัวได้มากกว่าการเปิดเพลงจากเครื่องเล่นหรือวิทยุ

เสียงเพลงทำให้ลูกฉลาดได้อีกจริงเหรอ?

เด็กทารกจะฉลาดหรือไม่นั้น ไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นการเรียนรู้ของพ่อแม่เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยหลายๆ อย่างที่ประกอบเข้าด้วยกัน ทั้งยีนส์, สภาพแวดล้อม และคนที่เลี้ยงดู ดังนั้นการเปิดเพลงคลาสสิคอย่างเดียว หรือใครที่อ้างว่าเพลงของโมสาร์ทเท่านั้นที่สามารถทำให้คลื่นสมองของลูกมีความจำดี มีความฉลาดกว่าเด็กคนอื่น คงจะไม่ใช่ที่เพลงแล้วละค่ะ แต่เกิดจากหลายๆ ปัจจัยทั้งการเลี้ยงดู, สภาพแวดล้อมและยีนส์ด้วย
เด็กทารกชอบฟังเพลงจริงเหรอ?
จริงค่ะ แต่ที่ชอบนั้นไม่ใช่แค่เฉพาะเพลงนะค่ะ แต่เป็นทุกเสียงที่ฟังแล้วผ่อนคลายค่ะ ถ้าอยากทดสอบนะค่ะ ลองหาเสียงอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพลง แต่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เช่น เสียงน้ำไหลช้าๆ, เสียงคลื่นที่กำลังซัดเข้าฝั่งอย่างช้าๆ แล้วเปิดเสียงเหล่านี้ให้ลูกฟังสิค่ะ ลูกจะตั้งใจฟังอย่างตั้งใจเชียว เพราะว่าเสียงเหล่านี้นอกจากจะไม่ได้รุนแรงแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความอยากรู้ความเห็นและการเรียนรู้ของเจ้าตัวเล็กได้เช่นกันค่ะ
จำเป็นไหมว่าต้องเป็นเปิดเพลงคลาสสิคหรือเพลงอื่นๆ ให้ลูกฟังตลอดวัน?
ไม่จำเป็นค่ะ เพลงสำหรับคนท้องหรือเพลงคลาสสิคนั่น ไม่ได้มีประโยชน์มากไปกว่าเสียงพูดคุยธรรมดาของพ่อแม่ที่หยอกล้อ หรือพูดคุยกับลูกโดยตรง ดังนั้นการเปิดเพลงคลาสสิคหรือเพลงสำหรับคนท้อง หรือแม้แต่เพลงทั่วๆ ไป จะมีส่วนช่วยแค่ให้อารมณ์ของตัวพ่อแม่ผ่อนคลายลงเท่านั้น เมื่ออารมณ์ของพ่อแม่ผ่อนคลายแล้ว การพูดคุยกับลูก หยอกล้อเล่นกับลูกจะช่วยส่งเสริมและพัฒนา รวมถึงทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจได้มากกว่าการเปิดเพลงแล้วปล่อยให้ลูกนอนฟังเพลงเฉยๆ ค่ะ
นอกจากนั้นเด็กแรกเกิดแต่ละคนก็มีบุคคลิกที่แตกต่างกัน บางคนเป็นเด็กร่าเริง บางคนเป็นเด็กเคร่งขรึม บางคนตกใจง่าย ฯลฯ การเปิดเพลงคลาสสิคหรือเสียงเพลงอื่นๆ ตลอดวันตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้เด็กเหนื่อยเพราะถูกรบกวนจากเสียงมากเกินไปค่ะ เราควรจะมีช่วงเวลาให้เขาได้อยู่อย่างเงียบๆ บ้าง เราอาจจะเปิดเพลงคลอเบาๆ ช่วงที่เรากำลังให้นมลูก ระหว่างที่ลูกกำลังกินนมนั้นเราก็พูดคุย ร้องเพลง ร่วมกับลูกไปด้วย แต่หากลูกเริ่มง่วงก็ควรจะทำให้บรรยากาศดูเงียบสงบเหมาะกับการพักผ่อน เป็นต้นค่ะ

เมื่อคุณแม่ล้มป่วยแล้วยังควรให้ลูกกินนมแม่ต่อไหม?

คุณแม่หลายคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น บางครั้งอาจจะเจ็บป่วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคนก็อาจจะรู้สึกไม่สบายใจ กลัวว่าลูกจะติดเชื้อไปด้วยถ้าให้ลูกกินนมแม่ ทำให้เวลาที่แม่ล้มป่วยจึงหยุดให้นมแม่กับลูก แต่ความจริงแล้วการให้นมแม่กับลูกนั้น คุณแม่สามารถให้ลูกกินนมได้ตลอดค่ะ แต่จะเหตุผลเดียวเท่านั้นที่คุณแม่ห้ามให้ลูกกินนมแม่


เมื่อแม่ป่วยแล้วลูกมากินนมแม่ ลูกจะป่วยตามแม่ไปด้วยไหม?
คุณแม่หลายคนกังวล กลัวว่าตอนที่เราป่วยนั้น เมื่อลูกเข้าใกล้เราจะทำให้เชื้อโรคไปหาลูกด้วย แต่ความจริงคือ เชื้อโรคที่ทำให้เราป่วยนั้น มันมีอยู่ภายในตัวของเราตั้งแต่ก่อนจะแสดงอาการแล้วค่ะ แต่ที่ลูกไม่ติดเชื้อจากเรานั้นเพราะนมแม่ที่ลูกกินจากอกของเรานั้นจะมีภูมิต้านทานโรคส่งต่อไปให้ด้วย ลูกจึงไม่แสดงอาการเจ็บป่วย

โปรดจำไว้ว่าเชื้อโรคต่างๆ ภายในร่างกายของแม่ จะไม่สามารถปนเปื้อนลงในไปน้ำนมที่ร่างกายคุณแม่ผลิตขึ้นได้ การติดเชื้อของลูกจะเกิดขึ้นจากภายนอก เช่น คุณแม่อาจจะไม่ได้ทำความสะอาดเต้านมก่อนให้นมลูก เป็นต้น

แม่ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังสามารถให้นมแม่ได้ไหม?
ได้แค่ จะมีเพียงผู้ป่วยโรคเอดส์เท่านั้นที่ไม่สามารถให้นมแม่แก่ลูกได้ เพราะเชื้อไวรัสเอดส์จะส่งต่อผ่านน้ำนมได้

ถ้าแม่กินยารักษาอาการป่วย จะส่งผลต่อน้ำนมหรือเปล่า?
โดยมากอาการเจ็บป่วยทั่วไปที่คุณแม่เป็นนั้น เมื่อคุณแม่ทานยารักษา น้ำนมของแม่แม้จะปนเปื้อนบ้าง แต่จะไม่มีผลต่อทารกค่ะ เพราะภูมิต้านทานที่มีในน้ำนมแม่จะยังช่วยป้องกันลูกได้ค่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม คุณแม่ก็ยังควรระมัดระวังเรื่องการทานยา ดังนั้นหากคุณแม่เริ่มป่วย ก็ยังสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้เหมือนเดิมนะค่ะ เพียงแต่ตอนที่ไปหาคุณหมอ ก็อย่าลืมบอกด้วยว่ากำลังให้นมแม่อยู่ เพราะจะมียาบางประเภทเท่านั้นที่ส่งผลโดยตรง คุณหมอจะได้เลือกใช้ยารักษาตัวอื่นค่ะ

น้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยของทารกวัยแรกเกิด – 1 ขวบ

พ่อแม่หลายคนเวลาเจอเด็กทารกคนอื่นที่รูปร่างอวบอ้วน จ้ำม้ำน่าหยิก ก็อาจจะกังวลว่า ลูกของเรานั้นมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรือเปล่า หรือบางคนก็กังวลว่าลูกของเราจะกินนมน้อยไปไหมทำให้น้ำหนักตัวน้อย วันนี้เราจะแนะนำเกณฑ์น้ำหนักมาตราฐานของเด็กในวัยแรกเกิดจนอายุ 1 ปีเพื่อเป็นแนวทางให้กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

เด็กวัยแรกเกิดควรมีน้ำหนักตัวประมาณเท่าไร?

โดยปกติเด็กวัยแรกเกิดที่คลอดตามปกติ (ไม่ได้คลอดก่อนกำหนด) จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 3,000 กรัม (3 กิโลกรัม) แต่ก็มีไม่น้อยที่เด็กเกิดมาแล้วมีน้ำหนักตัวถึง 4,000 กรัม (ทีมงานเราท่านหนึ่งเกิดมาน้ำหนักตัวตั้ง 4,200 กรัม แหนะ) ดังนั้นหากลูกของเรามีน้ำหนักตัวระหว่าง 3,000 – 4,000 กรัมก็ถือว่าเป็นปกติสำหรับเด็กแล้วค่ะ ไม่ต้องกังวลไป แต่หากลูกของเราเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด โดยมากน้ำหนักตัวจะไม่ถึง 3,000 กรัม แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ เมื่อเขาเติบโตขึ้นน้ำหนักตัวของเขาก็จะเพิ่มไวกว่าเด็กทั่วไปเช่นกันค่ะ

เมื่อทารกแรกเกิดเข้าสู่วัย 3 เดือน

น้ำหนักตัวหลักจากแรกเกิดนั้น โดยเฉลี่ยจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 700 – 800 กรัมต่อเดือน ดังนั้นเมื่อลูกของเรามีอายุครบ 3 เดือน น้ำหนักตัวของลูกก็ควรจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,100 – 2,400 กรัม นับจากตอนแรกเกิด แต่ทั้งนี้เด็กบางคนก็อาจจะมีเกณฑ์เพิ่มมากหรือน้อยกว่าเกณฑ์ได้ค่ะ
เมื่อทารกเข้าสู่วัย 4 – 6 เดือน
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยในแต่ละเดือนในช่วงนี้จะอยู่ที่ 500 – 600 กรัมต่อเดือน ซึ่งจะน้อยกว่าในช่วง 1 – 3 เดือน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะค่ะ แต่หากเด็กบางคนที่น้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าเกณฑ์นี้ ก็ต้องดูว่าลูกกินอะไรไปเป็นพิเศษหรือเปล่านะค่ะ
เมื่อทารกเข้าสู้วัย 7 – 9 เดือน
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 400 กรัมต่อเดือน อาจมีมากหรือน้อยกว่านี้นิดหน่อยค่ะ

เมื่อทารกเข้าสู่วัย 9 – 12 เดือน

น้ำหนักตัวที่เพิ่มในแต่ละเดือนจะลดลงอีก เหลือเพียงเดือนละประมาณ 300 กรัมต่อเดือนค่ะ

เมื่อทารกเข้าสู่วัย 1 ขวบ

ช่วงนี้น้ำหนักตัวจะเพิ่มเพียงเดือนละ 200 กรัม ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ลูกมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากหรือน้อยในแต่ละเดือนด้วย
ซึ่งการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวนั้นบางครั้งอาจจะเพิ่มหรือลดเพราะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้น้ำหนักตัวของลูกเปลี่ยนแปลง เช่น
  • ฟันกำลังจะขึ้น
  • ไม่สบายหรือมีอาการเจ็บป่วย
  • เพิ่งกินนมหรืออาหารเสร็จ
  • เพิ่งถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะไป
  • ถอดหรือใส่เสื้อผ้าหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป
แล้วเราควรจะชั่งน้ำหนักลูกบ่อยแค่ไหน?
หากที่บ้านมีเครื่องชั่งที่เหมาะสมอยู่แล้วก็สามารถชั่งน้ำหนักได้ทุกวันค่ะ แต่หากไม่มีก็ชั่งตอนที่เราพาลูกไปพบคุณหมอตามนัดปกติก็ได้ หากน้ำหนักตัวของลูกต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อย แต่เขายังคงกินนมได้ตามปกติ ร่าเริง นอนหลับได้ตามปกติแม้น้ำหนักตัวจะเพิ่มน้อยกว่าเกณฑ์เล็กน้อยก็ยังไม่ต้องกังวลมากเกินไปนะค่ะ แต่หากต่ำกว่าเกณฑ์มากๆ ก็อาจจะขอคำแนะนำจากคุณหมอตอนที่เราพาลูกไปฉีดวัคซีนก็ได้ค่ะ

เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลูกจะฉลาดกว่าเลี้ยงด้วยนมผงจริงเหรอ?

โฆษณานมผงสำหรับเลี้ยงเด็กทารกในปัจจุบันจะเน้นว่า พวกเขา (ผู้ผลิต) ได้เพิ่มเติมสารอาหารทั้ง AHA, DHA และ (อีกสารพัดชื่อที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง) ลงไปในผลิตภัณฑ์ของเขา แล้วก็มีเด็กวัยน่ารักทำตัวฉลาดเกินวัย เพื่อทำให้พ่อแม่เชื่อว่าการใช้นมผงจะทำให้ลูกฉลาดจังเลย ทำให้พ่อแม่หลายคนอาจจะกังวลว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นจะทำให้ลูกของเราได้สารอาหารไม่ครบถ้วนและไม่ฉลาดเท่ากับเด็กที่โตมาจากนมผงหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบค่ะ

นมผงมีสารอาหารพิเศษมากกว่านมแม่จริงเหรอ?

ไม่จริงค่ะ แต่เพราะนมผงนั้นทำมาจากนมวัว นมแพะ หรือนมถั่วเหลือง ซึ่งน้ำนมเหล่านี้มีสารอาหารที่น้อยกว่านมแม่มาก พวกเขา (ผู้ผลิต) จึงต้องใส่สารอาหารอื่นๆ ลงไปในนมผงด้วย เพื่อให้ทารกสามารถเติบโตได้ไม่น้อยไปกว่าการกินนมแม่ แต่เพราะเวลาที่เขาออกโฆษณา เขาจะเน้นชื่อสารอาหารและเน้นว่าถ้าเด็กได้รับสารอาหารเหล่านี้จะทำให้เด็กเจริญเติบโต โดยที่เขาไม่ได้บอกว่า จริงๆ แล้วสารอาหารเหล่านี้มีอยู่ครบในนมแม่อยู่แล้วค่ะ

ถ้าจะให้พูดแบบตรงๆ ก็คือ นมแม่ที่กลั่นออกมาจากอกของแม่เองนั้น มีสารอาหารที่เด็กทารกต้องการครบถ้วนทั้งหมด นมแม่มีสารอาหารมากกว่าที่นมผงทุกยี่ห้อในโลกและในจักรวาลนี้ ต่อให้ผู้ผลิตนมผงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์นมผงไปไกลแค่ไหน ก็ยังไม่สามารถสร้างนมผงที่มีสารอาหารครบถ้วนเทียบเท่านมแม่ได้ค่ะ

นมแม่และนมผงมีผลต่อความฉลาดของลูกอย่างไร?

มีงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า เด็กที่เติบโตมาจากการกินนมแม่จะมีความฉลาดทางด้านอารมณ์มากกว่าเด็กที่กินนมผง ความฉลาดทางอารมณ์นี้สามารถเห็นได้จากอารมณ์ของลูก ลูกจะมีความร่าเริง อารมณ์แจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่ายมากกว่าเด็กที่กินนมผง นอกจากนั้นสารอาหารที่อยู่ในนมแม่จะสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของทารกได้ดีกว่านมผง ทำให้ร่างกายของลูกได้สารอาหารครบถ้วนมากกว่า

การที่ลูกมีความฉลาดทางอารมณ์มากกว่า มีความร่าเริง อารมณ์ดี ทำให้พ่อแม่สามารถสอนหรือกระตุ้นพัฒนาการของเขาได้ดีกว่า นอกจากนั้นเด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์มากกว่าจะเป็นเด็กที่มีความกระตือรือล้นมากกว่า ทำให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าค่ะ

นอกจากสารอาหารในนมแม่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับทารกแล้ว ในนมแม่ยังมีภูมิต้านทานโรคที่ส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้อีกด้วย ซึ่งภูมิต้านทานโรคเหล่านี้ไม่สามารถเติมลงไปในนมผงได้ ทำให้นอกจากลูกจะได้สารอาหารที่สมบูรณ์แล้ว ลูกยังได้ภูมิต้านทานจากแม่สู่ลูก ทำให้ร่างกายแข็งแรงมากกว่าอีกด้วย

แล้วเราควรจะให้นมแม่นานแค่ไหน?

บางคนคิดว่า การให้นมแม่ควรให้แค่ 6 เดือนแรกก็พอ พอลูกอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป ก็ควรเปลี่ยนมาเป็นนมผงแทน แต่ทางการแพทย์ยืนยันแล้วว่า คุณแม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ขวบ (หรือมากกว่า) ได้ค่ะ เพียงแต่เมื่อลูกมีอายุ 6 เดือนแล้ว ลูกก็เริ่มมีความพร้อมที่จะกินอาหารบ้างแล้ว พ่อแม่จึงควรเริ่มเตรียมอาหารให้ลูก โดยเสริมด้วยนมแม่หลังจากมื้ออาหารได้ค่ะ

อย่าไปเชื่อว่านมแม่หลัง 6 เดือนแล้วจะหมดคุณค่าอีกต่อไปนะค่ะ คุณค่าของนมแม่นั้นไม่ได้ลดลงแต่ลูกจะเริ่มมีฟันขึ้น ระบบย่อยอาหารของลูกพร้อมที่จะย่อยอาหารปกติได้แล้ว เราจึงควรเริ่มฝึกให้ลูกได้ลองกินอาหารปกติตั้งแต่เดือนที่ 6 เป็นต้นไปค่ะ

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

กฎหมายสิทธิเด็ก



กฎหมายสิทธิเด็ก มีที่มาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานของเด็กไว้ 4 ประการ คือ
1.สิทธิ ที่จะมีชีวิตรอด เป็นสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูทั้งทางร่างกาย จิตใจ ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้เกิดความปลอดภัย และต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจากบริการทางการแพทย์
2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิรับการศึกษาที่ดี ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม
3.สิทธิ ที่จะได้รับความคุ้มครอง เป็นสิทธิที่เด็กทุกคนจะได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากการทารุณทุกรูปแบบ เช่น การทำร้าย การนำไปขาย ใช้แรงงานเด็ก หรือแสวงหาประโยชน์มิชอบจากเด็ก
4.สิทธิ ที่ในการมีส่วนร่วม มีสิทธิที่จะแสดงออกและแสดงความคิดเห็นต่อสังคมในเรื่องที่มีผลกระทบกับเด็ก กฎหมายสิทธิเด็กดังกล่าวปัจจุบันหลายประเทศได้ยอมรับและนำมาอนุวัติบัญญัติ เป็นกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยก็รับหลักการดังกล่าวมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในชื่อว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้ บัญญัติหลักเกณฑ์ในการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพและป้องกันการละเมิดสิทธิ เด็กไว้หลายประการ ครอบคลุมสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้างต้น โดยสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
1.คณะ กรรมการคุ้มครองเด็ก กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ดำเนินการและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ในเรื่องการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กเพื่อดำเนินการให้การคุ้มครองสิทธิเด็กเกิดเป็น รูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
2.การ ปกป้องคุ้มครองเด็ก กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของผู้ปกครองและบุคคลผู้เกี่ยวข้องให้ต้องปฏิบัติต่อ เด็กที่เหมาะสมไว้อย่างชัดเจน และผู้ฝ่าฝืนย่อมมีโทษทั้งทางปกครองและทางอาญา เช่น ผู้ปกครอง กฎหมายกำหนดหน้าที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ใน ภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ
ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็ก หรือที่สาธารณะ หรือสถานที่ใด โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน
(2) ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพ หรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม
(3) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
(4) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก
(5) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ
บุคคลทั่วไป กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คือ
(1) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
(2) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
(3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
(4) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
(5) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทาน หรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
(6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
(7) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
(8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
(9) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
(10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์
(11) ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
  กฎหมาย คุ้มครองเด็กมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายอื่นที่มีโทษหนักกว่าต้องลงโทษตามกฎหมายนั้น เช่น การทารุณเด็กได้รับอันตรายสาหัสหรือตายก็ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาฐาน ทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งมีโทษจำคุกหกเดือนถึงสิบปี หรือโทษประหารชีวิต แล้วแต่กรณี
  และขอทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ของผู้พบเห็นหรือประสบพฤติการณ์ที่มีการทำทารุณกรรม ต่อเด็กให้รีบแจ้งหรือรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้า ตรวจค้นและมีอำนาจแยกตัวเด็กจากครอบครัวของเด็กเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ได้โดยเร็วที่สุด และกฎหมายก็บัญญัติคุ้มครองผู้แจ้งเหตุที่กระทำโดยสุจริตให้ได้รับความคุ้ม ครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแต่อย่างใด