โฆษณา

วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

“การรังแกกัน” ของเด็ก

ต้นตอของปัญหาความรุนแรงในเยาวชน
เด็กวัยรุ่นยกพวกตีกัน บาดเจ็บระนาว
คลิปวิดีโอฉาว นักเรียนหญิงยกพวกตีกัน
วัยรุ่นสาวใช้น้ำร้อนสาดหน้าคู่กรณีในร้านสะดวกซื้อ

นี่คือข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่เราได้ยินได้ฟังกันซ้ำๆ ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าดูเผินๆ ประเด็นปัญหาของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเด็กวัยรุ่นยุคนี้ แต่จริงๆ แล้วปัญหาความรุนแรงนั้นเป็นเพียงปลายเหตุ ขณะที่สาเหตุที่แท้จริงอยู่ที่ ปัญหาการรังแกกัน ระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกันเองซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาช้านานแล้ว แต่สังคมไม่ได้ตระหนักถึงและขาดการดูแลป้องกันปัญหาอย่างจริงจัง

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาของการรังแกกันอย่างละเอียด เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหานี้อย่างชัดเจน รวมถึงเสนอแนะวิธีการที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้ลูกของเราถูกรังแกและไม่ไปรังแกผู้อื่น โดยในเบื้องต้นคุณสรรพสิทธิ์ได้แบ่งลักษณะของการรังแกกันเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. เด็กจำนวนมากรังแกเด็กจำนวนน้อย
2. เด็กจำนวนน้อยรังแกเด็กจำนวนมาก
3. เด็กยกพวกตีกัน

เด็กจำนวนมากรังแกเด็กจำนวนน้อย : สาเหตุมาจากสังคมเลือกปฏิบัติ

กลุ่มแรก คือ เด็กจำนวนมากรังแกเด็กจำนวนน้อย ต้นตอของปัญหานี้มาจากสังคมที่เลือกปฏิบัติ การเลือกปฏิบัติเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลึกซึ้ง มีความเป็นมาที่ยาวนานเพราะมีทั้งส่วนที่เป็นเรื่องของขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละสังคมที่มีความแตกต่างกัน จุดหนึ่งที่สำคัญมากคือ การที่สังคมมีลักษณะของการเสี้ยมสอนเรื่อง คนละพวก ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ฯลฯ พื้นฐานเหล่านี้ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง คล้ายกับกติกาของฝูงสัตว์

แม้จะเป็นสุนัขป่าด้วยกัน ถ้าตัวอื่นหลงฝูงเข้ามา จะถูกรุมฆ่าหรือทำร้ายขับไล่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องหนีให้พ้นจากเขตของฝูงนี้ จะมาอยู่ในบริเวณที่ฝูงนี้ครอบครองอยู่ไม่ได้ นี่เป็นสัญชาติญาณของการต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด เป็นระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ผู้เข้มแข็งจึงจะอยู่รอด เพราะฉะนั้นถ้ารวมกลุ่มรวมฝูงกันแล้ว ก็จะต้องไปทำลายกลุ่มอื่นเพื่อให้ตัวเองอยู่กลุ่มเดียว ทีนี้มนุษย์เวลามาเป็นสัตว์สังคม มนุษย์ไม่จำเป็นต้องนำกติกานี้เข้ามาใช้ด้วย มนุษย์มีกฎเกณฑ์กติกาทางสังคม

          แต่สังคมมนุษย์บางกลุ่มกลับกลายเป็นว่ายังใช้กติกาของป่าอยู่ คือ มีการแก่งแย่งชิงดี มีการแบ่งพวกถ้าคนอื่นหลงไปอยู่ในกลุ่ม ก็จะถูกรุมทำร้ายไม่ยอมให้อยู่ สังคมแบบนี้สามารถเห็นจากกการรวมกลุ่มในสังคมญี่ปุ่นที่ชัดเจนกว่าทุกสังคมในโลก กลุ่มเด็กญี่ปุ่นจะมีลักษณะของการกีดกันหรือทำร้ายรังแกเด็กอื่นที่มีอะไรแตกต่างจากตน ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ของกลุ่ม เพราะว่าสังคมญี่ปุ่นจะทำอะไรต้องทำเป็นกลุ่ม จำลองสถานการณ์ของป่าเข้ามาในสังคมมนุษย์ ถ้าแตกกลุ่มไปเมื่อไร ก็จะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องรวมกลุ่ม

          พื้นฐานตรงนี้จะตอบคำถามว่าทำไมเด็กจำนวนมากไปรุมรังแกเด็กจำนวนน้อย สาเหตุคือ เด็กจำนวนน้อยมีอะไรที่แตกต่างไป อันดับแรกคือ การเรียน เด็กที่เรียนอ่อนจะถูกกีดกันจากเด็กที่เรียนดี เพราะถ้าเข้ากลุ่มแล้วอาจจะฉุดคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มลงไป เพราะฉะนั้นเด็กที่เรียนดีหรือเรียนปานกลางขึ้นไปจะไม่ต้องการรวมกลุ่มกับเด็กที่เรียนอ่อน อีกตัวอย่างคือเด็กต่างจังหวัดไปเข้าเรียนในโรงเรียนคนรวย มันจะเกิดการเลือกปฏิบัติ ไม่มีใครคบหาสมาคมกับเด็กจน เด็กคนนี้อาจจะได้ทุนการศึกษาพิเศษมา แต่เพื่อนคนอื่นเป็นลูกคนรวยหมด แค่เขาจะไปเที่ยวไหนกันก็ไปด้วยไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจ่าย หรือในการเลี้ยงดูเด็กโดยทั่วไป

          พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะเลี้ยงดูเด็กให้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลอื่น เช่นบอกว่าเด็กว่าพวกนี้ไม่ใช่พวกเรา พวกนั้นจนอย่าไปยุ่งกับมัน กลายเป็นพื้นฐานว่าครอบครัวกับสังคม เสี้ยมสอนให้เด็กมีการเลือกปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยวิธีการเหมือนๆ กัน แต่จะเลือกปฏิบัติดีเฉพาะต่อคนที่ตัวเองยอมรับไม่ใช่คนที่อยู่นอกกรอบที่ตัวเองกำหนด กรอบที่ว่านี้อาจจะป็นกรณีคนละเชื้อชาติ คนละศาสนา เด็กพิการกับเด็กปกติ เด็กที่มีปัญหาส่วนตัวบางอย่าง เช่น ปัญหาการเรียนรู้กับนักเรียนที่ไม่มีปัญหา

          นอกจากเลือกปฏิบัติต่อคนอื่นแล้วบางทีพ่อแม่ก็เลือกปฏิบัติต่อลูก ปฏิบัติต่อลูกรักดีเยี่ยม แต่ปฏิบัติต่อลูกชังเลวร้าย ก็จะเกิดการรังแกกันระหว่างลูก 2 คน ถ้าสมมติลูกรักแก่กว่าก็จะข่มเหงรังแกลูกชังเพราะรู้สึกว่า คนนี้ไม่มีคุณค่าอะไรในบ้าน ไม่มีใครต้องการ แม้แต่พ่อแม่ก็แสดงออกตัวลูกรักก็จะรังแกคนนี้ แม้แต่อายุอาจจะน้อยกว่า ไม่แข็งแรงเท่าแต่ก็จะรังแกด้วยการยืมมือผู้ใหญ่ เช่น แกล้งทำเป็นร้องไห้ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำอะไรเพื่อให้ผู้ใหญ่มาทำร้ายคนเป็นพี่ หรือตรงกันข้ามถ้าลูกรักเป็นเด็กตัวเล็ก ลูกชังเป็นพี่ พี่ก็จะมารังแกน้อง การเลือกปฏิบัติเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองจำนวนมากสร้างสมถ่ายทอดให้แก่เด็กโดยไม่รู้ตัว

เด็กเป็นอันธพาลเพราะถูกทารุณกรรมและปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง


          กลุ่มที่สอง เด็กจำนวนน้อยรังแกเด็กจำนวนมาก มีสาเหตุมาจากเด็กจำนวนน้อยมีปัญหาทั้งเรื่องพฤติกรรมหรือสุขภาพจิต โดยเฉพาะเด็กที่ถูกปล่อยปละละเลย ทอดทิ้งจากพ่อแม่ผู้ปกครอง หรืออาจถูกพ่อแม่กระทำทารุณกรรม ทำให้เด็กเหล่านี้เกิดโรคเครียด ทำให้มีอาการกลัว โกรธผู้กระทำ แต่ไม่สามารถตอบโต้ได้ ก็มีความเคียดแค้น เกิดความกังวลว่าจะถูกกระทำซ้ำอีก ความรู้สึก 3 อย่างนี้เมื่อเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องทำให้เป็นโรคเครียด พอเป็นโรคเครียดก็มีอารมณ์แปรปรวน ต่อต้านสังคม ทำอะไรหุนหันขาดความยั้งคิด มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง หวาดระแวงว่าคนอื่นจะคิดร้ายก็เลยชิงไปทำร้ายเขาก่อน เด็กพวกนี้เราจะเรียกกันว่า เด็กหัวโจกอันธพาล เป็นเด็กส่วนน้อยที่ไปรังแกเด็กส่วนใหญ่ รังแกทีละคน

เด็กยกพวกตีกัน : ผลผลิตของสังคมเลือกปฏิบัติและทอดทิ้งเด็ก

          กลุ่มที่สาม เด็กยกพวกตีกัน เป็นเด็กที่มีความคาบเกี่ยวกับเด็ก 2 กลุ่มแรก มีองค์ประกอบจาก 2 ประเด็นคือ หนึ่ง เด็กเหล่านี้ถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง เด็กต้องการคนแนะแนวทางชีวิต เมื่อไม่มีใครเป็นที่ยึดเหนี่ยว ก็จะมารวมกลุ่มกันเพื่อยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน เด็กเหล่านี้โดยเฉพาะวัยรุ่นมีพัฒนาการในการรวมกลุ่มกันเป็นพื้นอยู่แล้ว โดยจะมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ในขณะเดียวกันก็จำลองเอาสัญชาตญาณอย่างสัตว์เข้ามา คือ การมีฝูง มีอาณาเขต มีสัญลักษณ์ของฝูง หรือของกลุ่ม ถ้าคนนอกกลุ่มล้ำอาณาเขตเข้ามาจะต้องถูกทำร้าย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กบางคนไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนแต่ฆ่ากันได้โดยไม่รู้สึกผิด ความรู้สึกแบบนี้ถูกสร้างขึ้นโดยวัฒนธรรมของกลุ่ม แรงยึดเหนี่ยวของกลุ่มคล้ายๆ กับในภาคใต้ ในอิรักที่มีการระเบิดพลีชีพ เด็กกลุ่มนี้มีลักษณะผสมผสานกัน การแก้ไขก็สลับซับซ้อนมากเนื่องจากจะต้องให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ไขป้องกันปัญหา ครอบครัวเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ที่ต้องให้สังคมทั้งหมดเข้ามาจัดการแก้ไขเพราะมีองค์ประกอบสำคัญร่วมกัน จากเด็กที่ไม่ยอมรับความแตกต่าง มาสู่เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลย เมื่อสองปัญหานี้มารวมกันก็มีความรุนแรง

ภัยจากการรังแก : ความเสียหายใหญ่หลวงต่อทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติ

          เด็กที่ถูกรังแกบ่อยๆ อาจจะมีปัญหาด้านสติปัญญา หรือปัญหาพิการบางอย่าง เช่น การที่สมองส่วนหน้าไม่อาจทำงานเช่นปกติ อาจมีปัญหาการพัฒนากระบวนความคิด (Cognitive Development) ร่างกายอาจเล็กแคระแกร็นซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากภาวะขาดอาหาร หรือการมีความผิดปกติของฮอร์โมนการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นผลจากถูกพ่อแม่กระทำ ก็ทำให้เขามีพฤติกรรมไม่เหมือนเด็กทั่วไป คนทั่วๆ ไปไม่เข้าใจอาจรู้สึกว่าเด็กคนนี้เป็นเด็กแปลกๆ ก็เลยรู้สึกสนุกที่จะไปข่มเหงรังแก เด็กที่โดนรังแกเหล่านี้ พฤติกรรมจะเลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีผู้ยิงเพื่อนตายไปนับสิบๆ คน เพราะมีพื้นฐานถูกรังแกมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเกิดความผิดปกติทางจิตใจสะสมกันยาวนานก็เอาปืนมาฆ่าคน มันสะท้อนให้เห็นถึงสังคมที่ไม่เอื้ออาทรกัน นอกจากกีดกันคนที่มีความแตกต่างจากตนแล้ว ยังพยายามทำลายหรือรังแก เพื่อกดดันให้ออกจากกลุ่มไป เหมือนวิธีการของฝูงสัตว์ ถ้าตัวอื่นหลงฝูงมาก็จะเข้าไปรุมทำร้าย ถ้าหนีไม่ทันก็ตามตามสัญชาติญาณป่า ซึ่งเป็นกลไกการทำงานของสมองแบบ Reptile ไม่ได้ผ่านกระบวนการไตร่ตรองด้วยเหตุผลว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ทั้งนี้เพราะเด็กจำนวนมากไม่ได้ถูกฝึกให้คิดไตร่ตรองหาเหตุผลหรือรู้จักยับยั้งตนเอง หากเราปล่อยให้มีการรังแกกันมากๆ ก็จะบ่มเพาะเด็กที่มีพฤติกรรมเลวร้ายในการการรังแกคนอื่นและเด็กที่ถูกรังแกก็จะเก็บกด แล้ววันหนึ่งถึงจุดระเบิดก็อาจจะก่อผลเสียหายร้ายแรงในภายหลังอย่างที่เป็นข่าวได้

พ่อแม่จะปลูกฝังลูกอย่างไรไม่ให้ไปรังแกคนอื่น

          1. พ่อแม่ควรปรับพฤติกรรมตัวเองก่อนในการเลือกปฏิบัติ แล้วต้องสอนให้เด็กยอมรับความแตกต่าง เช่น พอให้อะไรพี่ น้องก็จะร้องเอาแบบเดียวกันกับพี่ ต้องให้น้องเข้าใจว่าตัวเองยังไม่เติบโตพอจะใช้ของแบบเดียวกับพี่ใช้ พ่อแม่ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ ไม่ใช่ทำไมไม่ตามใจน้อง ให้น้องไปก่อนเดี๋ยวไปซื้อมาใหม่ ทำให้เด็กไม่เรียนรู้ว่าคนต้องมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ คนแต่ละคนมีขอบเขตที่เหมาะสมทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมที่แตกต่างกันตามวุฒิภาวะ ตามสถานภาพทางสังคมหรืออื่นๆ ตรงนี้เด็กจะต้องเรียนรู้ว่าเป็นเรื่องปกติ คนจนกับคนรวยก็นั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกันได้

          2. สอนให้ลูกเรียนรู้ว่าความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปรู้สึกว่าอันนี้ดีไม่ดี เช่น คนๆ นี้จะหน้าตาท่าทางเป็นอย่างไร มันไม่เกี่ยวกับเราแต่มันเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ ธรรมชาติทำมาอย่างนี้ เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องไปชอบหรือเกลียดไปให้คุณค่าว่าดีหรือไม่ดี แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักทำตรงกันข้าม เช่น บอกลูกว่าอย่าไปเล่นกับเด็กข้างบ้าน พ่อแม่เขาจน พูดจาหยาบคาย แทนที่จะห้ามลูกเช่นที่ว่า ผู้ปกครองควรอธิบายให้ลูกฟังว่าการใช้คำพูดของเขาไม่เหมาะสม พ่อแม่ของเขาอาจจะไม่ตระหนักว่าคำพูดของลูกเขาเป็นคำไม่สุภาพ จะทำให้พ่อแม่ลูกมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นและจะไม่เกิดความรู้สึกแบ่งแยกพวกเขาพวกเราด้วย

          3. สอนให้ลูกรู้จักยอมรับคนอื่น คนที่มีปัญหา และให้ความช่วยเหลือ ให้มีน้ำใจต่อเขา เอื้อเฟื้อเอื้ออาทรต่อคนอื่น ให้ความช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าเรา ทั้งนี้พ่อแม่ควรถ่ายทอดผ่านการกระทำ ไม่ใช่ผ่านคำพูด พ่อแม่ต้องประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น ลูกจึงจะมีพฤติกรรมเช่นนั้นเพราะเด็กจะเรียนรู้จากการกระทำเป็นหลัก

          4. สร้างบรรยากาศของครอบครัวให้มีความรัก ความเข้าใจ ความผาสุก

จะป้องลูกอย่างไรจากการถูกรังแก

          1. พ่อแม่ควรต้องติดตามความเป็นไปของลูก หากลูกไปอยู่ในสถานการณ์แบบใดแบบหนึ่งเบื้อต้น เช่น ลูกถูกรุมรังแกเพราะลูกเราไม่เหมือนคนอื่น กรณีนี้ควรไปพูดคุยกับครูและผู้ปกครองของเด็กเหล่านี้ว่าจะร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ถูกข่มเหงรังแก โดยให้ลูกเรากับลูกเขาสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่ใช้วิธีว่าเด็กคนไหนรังแกลูกเราให้บอก แล้วไปจัดการเล่นงานเด็กพวกนั้นเอง วิธีการนี้แก้ปัญหาไม่ได้และก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงมากขึ้น คือ เราเองอาจจะต้องไปทะเลาะกับพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้น

          2. หากมีเด็กอันธพาลมารังแกลูกสาว ด้วยวิธีการร้ายแรงซึ่งถือเป็นความผิดทางอาญา เช่น การทำร้ายร่างกาย ข่มขู่คุกคาม การถูกลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ กรณีนี้ต้องให้กลไกทางกฎหมายมาเกี่ยวข้องเพราะพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ ไม่สามารถจะแก้ไขโดยวิธีการข้างต้นได้ ต้องมีกลไกทางกฎหมายมาช่วยเป็นกรอบ กรณีนี้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องตระหนักว่า ต้องแจ้งให้ผู้บังคับใช้กฎหมายทราบและเจรจากับทางโรงเรียนเพื่อใช้กฎหมายมาช่วยแก้ไขด้วย