โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

พัฒนาการเดือนที่ 9 ผู้ใหญ่ตัวน้อย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาลูกได้สะสมทักษะ เตรียมความพร้อมในการใช้มือ การใช้สายตาและการเข้าสังคม และตื่นเต้นกับสิ่งที่ดูเหมือนง่ายๆ สำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการพัฒนาการของเขาต่อไป ในเดือนที่ 9 นี้เขาจะใช้เวลาในการฝึกฝนขั้นตอนการพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้ให้ดียิ่งขึ้น และยังกระหายที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

จากท่านอนบนพื้นลูกจะลุกขึ้นมานั่งเองได้ และจะสามารถช่วยตนเองให้ขึ้นมาอยู่ในท่ายืนได้ (เกาะยืน) โดยอาจจะต้องอาศัยโซฟาเป็นที่เกาะ และเด็กบางคนจะเริ่ม ตั้งไข่ ทำท่าเหมือนจะเดินได้หนึ่งหรือสองก้าว แต่ก็ยังไม่กล้าเดินต่อหรืออาจจะลงนั่งอีก ลูกจะคลานได้เก่งและจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น จะชอบขึ้นบันไดแต่อาจจะพลัดตกหงายลงมาได้ หรือปีนป่ายโต๊ะ ดึงลิ้นชัก ผ้าปูโต๊ะจนหลุดออกมาหล่นใส่ตัวหรือเท้าได้ จึงควรล็อกลิ้นชักและไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะในบริเวณที่เด็กอยู่ประจำ แม้แต่ต้นไม้ที่ปลูกในกระถางในบ้านก็อาจถูกลูกเข้าไปรื้อ และโน้มให้หล่นทับตัวลูกได้
ลูกจะสามารถใช้มือได้ ตามขนาดของสิ่งของที่เขากำลังจับเล่นอยู่ และเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งของต่างๆ เช่น จะสามารถเอาของชิ้นเล็กไปใส่ในของชิ้นใหญ่ อย่างเช่น เล่นตะกร้าเก็บของ เอาของชิ้นเล็กใส่ถ้วย และจะสามารถต่อบล็อกชิ้นใหญ่วางซ้อนกันได้ 2 ชั้น หรือเอาฝามาปิดปากถ้วยได้

คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะพยายามซื้อของเล่นที่พิเศษๆ ให้ลูก และพยายามสอนให้ลูกได้เล่นอย่างถูกต้อง ตามชนิดของๆ เล่น แต่การพยายามด้วยความหวังดีของคุณนี้ อาจจะไปขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กในการหัดสังเกต การฝึกฝนในการใช้มือและสายตา ทางที่ดีแล้วควรให้โอกาสลูกได้ลองเล่นอย่างที่เขาอยากจะเล่นเอง แล้วเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ได้เองทีหลัง โดยคุณไม่ต้องกังวลคอยแก้ให้เขาเล่นในวิธีที่ถูกต้อง และแม้ว่าลูกดูเหมือนจะเล่นเองหรืออยู่คนเดียวได้ แต่เขาก็ยังจะมองหาหรือต้องการให้แน่ใจว่ามีคุณอยู่ใกล้ๆ ในห้องด้วย
อีกขั้นของการพัฒนาการ ที่คุณจะเริ่มฝึกให้ลูกในอายุนี้คือ การค่อยๆ เลิกนมขวด และเริ่มให้ดื่มจากถ้วยแทน โดยการเริ่มใช้ ถ้วยฝึกดื่ม และเลือกช่วงเวลาที่เขาไม่ค่อยสนใจดูดนมจากขวด เปลี่ยนมาให้เป็น ถ้วยฝึกดื่ม แทน ในช่วงแรกให้ฝึกดื่มน้ำก่อนและเปลี่ยนเป็นนมในภายหลัง และอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือนก่อนที่ลูกจะยอมรับการดื่มจากถ้วย ในกรณีที่ดูดนมแม่ และยังคงกินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี อาจจะพิจารณาเสริมนมผสมโดยใช้วิธีถ้วยฝึกดื่ม หรือดูดหลอดด้วยได้บ้าง

การพูดของลูกในตอนนี้ จะยังไม่เป็นคำที่ฟังมีความหมายนัก แต่เขาก็จะเริ่มมีการออกเสียงที่พอฟังได้ ถ้าเราจะเข้าใจเขา เช่น การเรียก มะมะ อาจหมายถึง หม่ำ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเขาถึงจะสามารถออกเสียงเรียกคำที่มีความหมายที่ถูกต้องได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ลูกจะเข้าใจ ความหมาย ในสิ่งที่คุณพูดกับเขาได้มากขึ้น พยายามพูดกับลูกบ่อยๆ และเรียกคำศัพท์เฉพาะสำหรับสิ่งของ และกริยาต่างๆ ที่คุณใช้อยู่เป็นประจำ เช่น พ่อ แม่ ตา ยาย ส่งจูบ บ้าย บาย ซึ่งลูกจะเข้าใจและสามารถทำตามที่คุณบอกได้

บางครั้งที่เขาเริ่มซนและถูกคุณดุจะทำให้เขาตกใจ หรือบางทีแสดงท่าเสียใจ ซึ่งคุณควรระวังอย่าให้มีการห้ามหรือต้องดุกันบ่อยๆ เพราะจะทำให้เขาเกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะลองหรือทำอะไรนัก แต่ คุณก็ควรระวังเรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความไร้เดียงสาด้วย