โฆษณา

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

โรคหัวใจในเด็ก น่ากลัวหรือไม่

เคยได้ยินว่าเด็กแรกเกิดทุกๆ 100 คน จะมี 1 คนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ จนทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจยิ่งนัก สาเหตุเกิดจากอะไร กรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ แล้วดูแลป้องกันอย่างไร

โรคหัวใจ ใครๆ ได้ยินแล้วก็คงรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ และก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเรา หรือสมาชิกในครอบครัว โรคหัวใจในเด็กนั้นเป็นสิ่งที่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นโรคในกลุ่มที่เราเรียกว่า หัวใจพิการแต่กำเนิด อัตราการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในปัจจุบันประมาณ 8 10 รายต่อทารกแรกเกิด 1,000 คน ซึ่งไม่แตกต่างจากข้อมูลในอดีตเราพบว่าการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดนั้นมีความสัมพันธ์กับโรคทางพันธุกรรมหลายโรค และโรคทางพันธุกรรมบางโรคสามารถถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ด้วย

ดังนั้นการทราบถึงประวัติโรคทางพันธุกรรมในครอบครัวจะช่วยให้แพทย์เฝ้าระวัง และวินิจฉัยได้เร็ว ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับภาวะพิการแต่กำเนิดได้หลายโรค ตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์ทำให้เด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วหลังคลอด เรายังพบว่าทารกที่มีโรคหัวใจพิการร่วมมีความผิดปกติของโครโมโซมมักจะมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย

นอกจากนี้ปัจจัยในแม่ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น แม่ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีโอกาสที่บุตรจะมีโรคหัวใจพิการเป็น 3.2 เท่าของแม่ที่ไม่มีโรคเบาหวาน แม่ที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคพุ่มพวง ก็อาจจะมีทารกที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติได้ ยาบางชนิดที่แม่ได้รับขณะตั้งครรภ์ เช่น โคเคน ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยานอนหลับบางชนิด หรือการสูบบุหรี่ก็ล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด

ดังนั้นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การเลือกและระมัดระวังการกินยา หรือหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมขณะตั้งครรภ์ จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด รวมถึงจะเป็นการลดปัญหาจากภาวะผิดปกอื่นๆ ด้วย การให้ประวัติต่างๆ ของครอบครัวของคุณพ่อและคุณแม่จะช่วยให้แพทย์เฝ้าระวังและ วินิจฉัยภาวะผิดปกติต่างที่อาจจะเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ได้เร็วขึ้น แพทย์จะสามารถให้คำปรึกษา และวางแผนที่เหมาะสม เพื่อลดการเกิดปัญหาซ้ำซ้อน ลดการสูญเสียที่จะเกิดกับครอบครัวได้

อย่างไรก็ดีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหลายชนิดสามารถให้การรักษาได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการผ่าตัด การสวนหัวใจทางหลอดเลือด หรือแม้แต่การลดอาการด้วยการกินยา และโรคหัวใจบางชนิดสามารถดีขึ้นหรือหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่สำหรับโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่มีความซับซ้อน และมีความรุนแรงค่อนข้างมาก การรักษาอาจมีข้อจำกัดและไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้

นอกจากนี้ยังมีโรคหัวใจในเด็กที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น โรคหัวใจรูมาติก และโรคคาวาซากิ เหล่านี้เป็นโรคที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับคุณแม่ ดังนั้นการรักษาสุขภาพเด็กให้แข็งแรงก็จะสามารถลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจรูมาติกได้