โฆษณา

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อเจ้าตัวดีกระดูกหัก

ร่างกายน้อยๆ ของเจ้าตัวเล็กมักมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุอยู่บ่อยๆ ทั้งนี้เป็นเพราะหนูน้อยมักจะสนุกจนลืมที่จะระมัดระวังตัวเอง จึงทำให้ต้องเจ็บตัวเอาได้ง่ายๆ หากเป็นเพียงแผลถลอก ฟกช้ำ ก็คงไม่เท่าไร แต่ถ้าถึงขั้นกระดูกหักข้อหลุดขึ้นมา คนเป็นพ่อแม่อย่างเราๆ ก็คงต้องร้อนใจไม่ใช่น้อยเลยทีเดียวค่ะ อย่างไรก็ตามภาวะกระดูกหักในเด็กอาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากคุณมีความรู้และความเข้าใจที่ดีพอ

รู้ได้อย่างไรว่าใช่ กระดูกหัก

หากว่าเจ้าตัวเล็กเล่นซนและพลัดตกจากที่สูง หรือร่างกายได้รับการกระแทกจากของแข็ง คุณอาจต้องสังเกตอาการของลูกน้อยดังนี้
- ลูกไม่ยอมขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายส่วนที่ได้รับบาดเจ็บเลย
- บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บมีรูปร่างผิดไป เช่น โก่งงอ บิดเบี้ยว หรือช้ำและบวมมาก
- เคลื่อนไหวไม่ปกติ หรือมีเสียงกระดูกเสียดสีกัน
- เจ็บปวดมากบริเวณที่บาดเจ็บ

สงสัยว่า กระดูกหัก ต้องรู้จักปฐมพยาบาล

สิ่งที่คุณควรทำเมื่อพบหรือสงสัยว่าเจ้าตัวเล็กกระดูกหัก ได้แก่
- ใช้วัสดุแข็ง เช่น ไม้บรรทัด กระดาษแข็ง กระดาษพับทบหลายๆ ชั้น ดามบริเวณที่คิดว่ากระดูกหักไว้ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะดัดหรือดึงบริเวณที่บาดเจ็บด้วยตัวเอง
- หากจำเป็นต้องเคลื่อนผู้ป่วย พยายามให้บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บเคลื่อนที่น้อยที่สุด
- ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการปวด
- ไม่ควรให้เจ้าตัวน้อยรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอาจสำลักได้
- นำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

รู้เท่าทัน ระวังถูกวิธี

ข้อมูลต่อไปนี้น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ระวังลูกน้อยของคุณได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพราะเรากำลังจะบอกว่า อวัยวะใดของเจ้าตัวเล็กมีความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากกระดูกหักมากที่สุด
กระดูกไหปลาร้า - เกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็กแรกคลอดซึ่งตัวใหญ่คลอดยาก ไปจนถึงเจ้าตัวเล็กก่อนวัยเรียนที่เวลาล้มมักเอาไหล่กระแทกพื้น อย่างไรก็ตามในเด็กอ่อนกระดูกไหปลาร้าที่หักจะประสานติดกันได้ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กโตอาจต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
กระดูกข้อมือและแขน - เจ้าตัวเล็กที่เวลาล้มมักใช้มือหรือแขนยันพื้น อาจทำให้กระดูกข้อมือและแขนหักได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลารักษาประมาณ 6 สัปดาห์
กระดูกแขนบริเวณเหนือข้อศอก - พบได้บ่อยในกรณีที่เด็กหกล้มเช่นกัน โดยใช้การรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์

เด็กๆ กระดูกหักง่าย ก็ติดง่าย

แม้ว่ากระดูกของเจ้าตัวเล็กจะบอบบางและมีโอกาสหักได้ง่ายกว่า แต่ในทางกลับกันก็สามารถเชื่อมติดกันได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะเยื่อหุ้มกระดูกของเด็กมีความหนาแน่นและทนทานกว่าของผู้ใหญ่ รวมทั้งยังสร้างกระดูกได้ดีกว่า โดยทั่วไปเมื่อเจ้าตัวเล็กกระดูกหักเยื่อหุ้มกระดูกบริเวณที่หักจะไม่ขาดทั้งหมด ทำให้กระดูกไม่หลุดจากกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งเด็กเล็กเท่าไรกระดูกที่หักก็ยิ่งเชื่อมติดกันได้ง่ายเท่านั้น เช่น เด็กแรกเกิด หากกระดูกขาหักก็จะเชื่อมติดกันได้ภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ เทียบกับเด็กวัย 8 ปี จะใช้เวลา 8 สัปดาห์ เด็กวัย 12 ปี ใช้เวลา 12 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้ใหญ่จะใช้เวลาถึง 20 สัปดาห์เลยทีเดียว