โฆษณา

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

กฎหมายกับครอบครัว

Q : มีเพื่อนหลายคนที่เขาแต่งงานมีครอบครัวออกไป ดูจากคนภายนอกก็เหมือนครอบครัวเขาจะมีความสุขดี แต่ก็มีอยู่ครอบครัวหนึ่งที่มาภายหลังว่าเขาต้องอดทนอยู่ในสภาพถูกทำร้ายทางกายและใจจากสามี ไม่ทราบว่ากรณีนี้ในฐานะภรรยาเราสามารถปกป้องตัวเองได้หรือไม่ แล้วถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ กฎหมายจะช่วยอะไรได้บ้างคะ

A : สวัสดีค่ะ คุณแม่เข้าใจถูกต้องแล้วค่ะ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 นี่เอง กฎหมายฉบับหนึ่งชื่อว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้มีผลบังคับใช้ค่ะ

กฎหมายฉบับนี้ต้องการจะคุ้มครองผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลในครอบครัว ซึ่งได้แก่สามีภรรยาไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ก็ตาม หรือกระทั่งคนที่เคยเป็นสามีภรรยากันแต่เลิกกันไปแล้ว แล้วก็รวมถึงลูกๆ ลูกบุญธรรม สมาชิกหรือบุคคลใดๆ ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เช่น ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา หลาน หรือกระทั่งแม่บ้าน คนขับรถ ฯลฯ ที่อาศัยในครอบครัวนั้นๆ ด้วยผลของกฎหมายฉบับนี้ หากมีการกระทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ผู้กระทำจะต้องมีความผิด เช่น กรณีเพื่อนของคุณแม่ที่ถูกสามีทำร้าย หรือการที่ภรรยาด่าทอสามีด้วยคำพูดดูถูกเหยียดหยามจนเกิดผลกระทบทางใจก็เป็นความผิดได้

นอกจากนี้การบังคับหรือการใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรมก็ถือเป็นความรุนแรงตามกฎหมายนี้ด้วยนะคะ เช่น สามีบังคับขู่เอาเงินจากภรรยาไปซื้อเหล้า หรือพ่อแม่บังคับลูกทำงานหนักเกินกว่าที่เด็กควรจะทำ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการสั่งสอนหรือการใช้งานตามปกติจารีตประเพณี เช่น ให้ลูกช่วยงานบ้าน แบบนี้ไม่ใช่ความรุนแรงนะคะ เพราะจะเป็นความรุนแรงได้ต้องเป็นเรื่องที่ผิดคลองธรรม
สรุปก็คือ การกระทำใดๆ ก็ตามที่ ทำให้เกิด หรือ น่าจะทำให้เกิด หรือ มุ่งให้เกิด อันตรายแก่ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพของบุคคลในครอบครัว โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออก ก็อยู่ในบังคับกฎหมายนี้แล้ว ซึ่งผู้กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีที่เกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว กฎหมายให้ผู้ถูกกระทํา ผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทํารุนแรงนั้น แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ได้แก่ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะแจ้งโดยวิธีใดๆ ก็ได้ ทั้งแจ้งด้วยตัวเอง โทรศัพท์ แฟกซ์ หรืออีเมลก็ได้ และถ้าเป็นการแจ้งโดยสุจริต ผู้แจ้งจะได้รับความคุ้มครองไม่ให้ต้องรับผิดจากการที่เราไปแจ้งความ
ที่สำคัญคือ กฎหมายฉบับนี้ได้สร้างมาตรการพิเศษขึ้นมาก็คือ หลังจากที่แจ้งแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินคดี กฎหมายให้สามารถกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ได้ด้วยซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่มีอยู่ในกฎหมายอื่น เช่น ให้ผู้ถูกกระทำเข้ารับการรักษา ให้ผู้กระทำใช้เงิน ห้ามผู้กระทำเข้าที่พัก หรือกำหนดวิธีการดูแลบุตร เป็นต้น และหากศาลกำหนดมาตรการเหล่านี้แล้วมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีความผิดเพิ่มอีกกระทงด้วยค่ะ

โดย : ดร.ปารีณา