โฆษณา

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

คู่มือเล่นกีฬาแบบปลอดภัย

เด็กๆ จะเล่นกีฬาทั้งที ก็ควรมีความรู้เรื่องการป้องกันอันตรายและการบาดเจ็บอย่างถูกวิธีด้วย เพื่อที่ว่าหนูน้อยจะได้สนุก สุขภาพดี และไม่มีบาดแผล

Head or Eye Injury การบาดเจ็บที่ศรีษะหรือดวงตา อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ในกรณีที่เจ้าตัวน้อยชอบเล่นปีนป่ายโลดโผน จนศรีษะไปโขกเข้ากับของแข็ง หรือกระทั่งอาจเกิดจากการโดนลูกบอลกระแทกเข้าอย่างจัง ซึ่งในบางครั้งการบาดเจ็บที่ศรีษะก็อาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บต่อดวงตาได้ด้วย
สิ่งที่ควรทำหลังจากเกิดอุบัติเหตุ หากพบว่าลูกดูมึนๆ งงๆ พูดได้ไม่ชัดเหมือนเดิม หรือมีอาการปวดที่คอหรือท้ายทอย นั่นอาจหมายความว่าศรีษะของลูกได้รับความกระทบกระเทือนอย่างแรง ดังนั้นคุณจึงควรรีบโทรแจ้งรถพยาบาล ไม่ควรเคลื่อนไหวลูกเอง แต่หากว่าลูกไม่มีอาการร้ายแรงหลังอุบัติเหตุ สิ่งที่ควรทำคือสังเกตอาการต่อไปอีก 72 ชั่วโมง หากพบว่าเจ้าตัวน้อยปวดหัว เวียนหัว มองเห็นไม่ชัด หรืออาเจียน รวมทั้งหากลูกถูกกระแทกบริเวณดวงตาโดยตรง ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที

Wrist Hand & Finger Injury เมื่อสะดุดหรือพลาดพลั้งหกล้ม เจ้าตัวเล็กอาจใช้มือลงเพื่อรองรับน้ำหนักตัว ซึ่งอาจทำให้มือ ข้อมือ หรือนิ้ว ได้รับบาดเจ็บได้
สิ่งที่ควรทำ หากว่ามือหรือนิ้วมือของลูก บิดผิดรูปหลังเกิดอุบัติเหตุ หรือหากอาการบวมไม่ทุเลาภายใน 24 ชั่วโมง คุณควรพาลูกไปพบแพทย์ โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าตัวเล็กได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือ คุณต้องระมัดระวังและสังเกตว่ามีกระดูกหักหรือไม่ และไม่ให้ลูกเคลื่อนไหวข้อมือหรือนวดก่อนไปพบแพทย์ เพราะอาจทำให้อาการหนักมากขึ้น

Bruise Cut or Burn อุบัติเหตุที่ก่อให้เกิดอาการฟกช้ำหรือแผลแตก เกิดขึ้นได้บ่อย ไม่เลือกสถานที่ โดยเฉพาะในการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย
สิ่งที่ควรทำ เมื่อได้รับบาดเจ็บ เป็นแผลแตก หรือฟกช้ำ ควรทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาด หากว่าแผลแตกลึกมาก ควรพาลูกไปพบแพทย์ ภายใน 6-12 ชั่วโมง และต้องระวังเป็นพิเศษหากแผลแตกนั้นอยู่ใกล้บริเวณข้อต่อ เพราะอาจติดเชื้อได้โดยง่าย สำหรับแผลฟกช้ำปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดยใช้น้ำแข็งประคบประมาณ 20-30 นาที

Ankle Injury การบาดเจ็บที่ข้อเท้าเกิดขึ้นได้ในกรณีที่เด็กๆ วิ่งเล่น แล้วก้าวพลาด หรือสะดุดหกล้ม ข้อเท้าพลิก เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เมื่อเจ้าตัวเล็กวิ่งหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว
สิ่งที่ควรทำหลังอุบัติเหตุ หากข้อเท้าของลูกมีอาการเจ็บแต่ไม่บวม คุณอาจประคบด้วยน้ำแข็ง และพันหลวมๆ ด้วยผ้ายืดสำหรับพยุงข้อเท้า หากว่ามีอาการบวมและปวดมาก เมื่อยืน หรือเดิน อาจต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อเอ๊กซเรย์

พัก ยก กด เย็น : เพื่อรักษาบาดแผล

เมื่อลูกได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งเล่น หรือออกกำลัง ลองใช้วิธีการ พัก ยก กด เย็น เพื่อบรรเทาการฟกช้ำ บวม ปวด เคล็ดขัดยอก
พัก บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเคลื่อนไหวบริเวณนั้นให้น้อยที่สุด ในระยะเวลา 48 ชั่วโมง หากลูกได้รับบาดเจ็บที่ขา ก็ควรงดการเดินโดยสิ้นเชิง
ยก บริเวณที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนเลือดได้ดี ซึ่งจะทำให้อาการบวมลดลงได้ คุณควรยกบริเวณที่ฟกช้ำให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจภายใน 24 ชั่วโมงหลังอุบัติเหตุ
กด หรือพยุงบริเวณที่ฟกช้ำ ด้วยผ้ายืดที่ใช้ในการประคองกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรพันแน่นเกิดไป เจ้าตัวเล็กไม่ควรรู้สึกชาหรือรู้สึกอึดอัดหลังจากพันผ้าแล้ว
เย็น ประคบบริเวณที่ฟกช้ำด้วยน้ำแข็งประมาณ 20-30 นาที ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้อาการบวมกำเริบ